องค์กรสิทธิมนุษยชนไทยร้องสอบใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 และขอให้ยึดหลักสิทธิมนุษยชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) สลายการชุมนุม กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 บริเวณถนนดินสอ ที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชนไทยต่างออกแถลงการณ์ เพื่อให้ตรวจสอบกรณีใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม พร้อมเรียกร้องให้ยึดหลักสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์เรื่อง ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีความรุนแรงจากการสกัดกั้นการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม ใจความระบุว่า
ตามที่ได้เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงสื่อมวลชนที่ติดตามรายงานข่าวด้วย นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2022 มาโดยตลอด ผ่านสื่อสารมวลชนตามช่องทางต่าง ๆ และจากการลงพื้นที่สังเกตการณ์ มีความกังวลห่วงใยต่อการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบของทุกฝ่าย ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่แสดงพฤติกรรมยั่วยุ หรือสร้างเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงต่อกัน การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ คฝ. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและหลักปฏิบัติสากล ต้องเคารพในสิทธิการชุมนุม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งสิทธิอื่น ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและการสูญเสียของทุกฝ่าย
กสม. ขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักสิทธิมนุษยชน และการไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันในทุกรูปแบบ โดยจะได้หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาตรวจสอบ และเสนอมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายต่อไป
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
19 พ.ย. 2565
นอกจากนี้ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกแถลงการณ์ ขอให้มีการสอบสวนกรณีใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎร หยุด APEC 2022 ใจความระบุว่า
ตามที่กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ได้จัดชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และประกาศเดินออกจากลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร เพื่อไปยื่นหนังสือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้นำที่มาประชุม คือ ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากการเป็นประธานการประชุม APEC เนื่องจากไม่มีความชอบธรรมในการเป็นผู้นำในการจัดประชุมคราวนี้ รวมถึงยกเลิกนโยบาย BCG และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และลาออกจากนายกรัฐมนตรี แล้วยุบสภา จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้ตั้งกำลังไม่ยอมให้กลุ่มราษฎรฯได้เคลื่อนออกจากถนนดินสอ โดยมีการแยกสื่อมวลชนและผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ออกนอกพื้นที่ จากนั้นมีการยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุม สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บหลายรายและมีผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่จับกุม 25 คน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เห็นว่าการชุมนุมและการเดินขบวน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยสงบปราศจากอาวุธซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR และรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 อีกทั้งกลุ่มราษฎร หยุด APEC 2022 มีการแจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว หากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุมเห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มราษฎร หยุด APEC 2022 ไม่ทำตามเงื่อนไขที่ตกลง หรือกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุมสามารถร้องขอต่อศาล เพื่อให้สั่งให้ยุติการชุมนุม และเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจสลายการชุมนุมก่อนศาลมีคำสั่ง แต่ในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว กลับใช้กำลังเข้าจับกุมและสลายการชุมนุม ซึ่งเป็นการกระทำเกินความพอสมควรแก่เหตุ ไม่เป็นไปตามข้อปฏิบัติการสลายการชุมนุมตามหลักสากล
สสส.จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการดังต่อไปนี้
- ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางสอบสวนการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและให้มีการชดเชยผู้ได้รับผลกระทำจากการสลายการชุมนุมทั้งหมด
- ให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมโดยทันที
ด้วยความเคารพหลักการประชาธิปไตยและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
18 พ.ย. 2565
ภาพจาก BBCThai
และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ประเทศไทย: หยุดใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงระหว่างการประชุมเอเปก ใจความระบุว่า
สืบเนื่องจากการสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ของ 'กลุ่มราษฎรหยุดAPEC2022' บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 9 คน ในจำนวนนั้นเป็นสื่อมวลชน 4 คน และมีผู้ชุมนุม 25 คนถูกจับกุมและถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจทุ่งสองห้อง ซึ่งไม่ใช่สถานีท้องที่ โดยตำรวจแถลงว่ามี 'ตำรวจ คฝ.' ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 5 นาย
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากลตามที่กล่าวอ้าง แทนที่จะอำนวยความสะดวกในการจัดการชุมนุม กลับสลายการชุมนุมที่รุนแรงโดยการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่มุ่งเป้าเพื่อการปะทะและการจับกุมผู้ชุมนุม ถือเป็นการละเมิดการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และเป็นการปิดปากผู้เห็นต่าง
“ผู้ชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายหรือรุนแรงใด ๆ แต่กลับได้รับความกระทบกระเทือนทั้งทางร่างกายและจิตใจจากการกระทำของตำรวจ มีผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตา มีสื่อมวลชนที่ถูกทุบตี ได้รับบาดเจ็บ และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ทั้ง ๆ ที่ใส่ปลอกแขนสื่อมวลชนและแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเพราะพวกเขากล้าที่จะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ”
“ทางการต้องยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ในส่วนของการควบคุมการชุมนุม ทางการไทยควรเคารพ คุ้มครองและประกันการใช้สิทธิมนุษยชนของผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วม รวมทั้งมีมาตรการรับมือและป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ โดยไม่ใช้ความรุนแรง และยังต้องประกันความมั่นคงปลอดภัยของผู้สื่อข่าว ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม และประชาชนทั่วไปที่ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย”
“เราขอเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตน และอำนวยความสะดวก ในการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ทางการไทยต้องอนุญาตให้ผู้ชุมนุมโดยสงบสามารถแสดงความคิดเห็นของตน โดยต้องไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากกว่านี้” นางปิยนุช กล่าว
ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมาตรฐานการใช้กำลังตำรวจควบคุมฝูงชน เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องหาทางหยุดยั้งและแยกตัวบุคคลที่กระทำความรุนแรงออกไป แต่ต้องไม่ไปขัดขวางบุคคลอื่นที่ยังต้องการชุมนุมโดยสงบต่อไป ตำรวจอาจใช้กำลังได้เป็นแนวทางสุดท้าย เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด และเฉพาะเมื่อจำเป็นแก่การปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง การใช้กำลังควรมุ่งที่การยุติความรุนแรง และให้ใช้ได้ในลักษณะที่จำกัดอย่างยิ่ง โดยมุ่งลดอาการบาดเจ็บและมุ่งรักษาสิทธิที่จะมีชีวิตรอด
ทั้งนี้ การชุมนุมของกลุ่ม 'ราษฎรหยุดAPEC2022' จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมเอเปกระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. 2565 โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ยกเลิกนโยบาย BCG ประยุทธ์ต้องยุติบทบาทการเป็นประธานในการประชุมเอเปกเนื่องจากไม่มีความชอบธรรม และจะต้องยุบสภาอีกทั้งเปิดให้มีการเลือกตั้ง ทางกลุ่มชุมนุมประกาศว่า จะเดินเท้าจากลานคนเมือง ไปศูนย์ประชุมสิริกิตวันที่ 18 พ.ย. 2565 เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึงผู้นำชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม
ในวันที่ 18 พ.ย. 2565 ช่วงเวลาประมาณ 9.00 น. ระหว่างการเคลื่อนขบวนการชุมนุมประท้วงจากลานคนเมือง ที่บริเวณถนนดินสอ ตำรวจควบคุมฝูงชนได้นำรถและรั้วถนนขวางกลางถนน ก่อนที่ตำรวจจะประกาศให้ยกเลิกการชุมนุมและเข้าจับกุมประชาชนอย่างน้อย 25 คน โดยนำตัวไปสถานีทุ่งสองห้องซึ่งไม่ใช่สถานีท้องที่ที่เกิดเหตุ
อีกทั้งเข้าสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนอย่างน้อย 9 คน ได้รับการบาดเจ็บ ในจำนวนนี้รวมสื่อแล้ว 4 คน ซึ่งใส่ปลอกแขนและตะโกนร้องเพื่อยืนยันตนว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน แต่ยังคงโดนกระบองฟาดและทำร้ายบริเวณศีรษะ ตามแถลงการณ์ของ The Matter หรือถูกควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจทุ่งสองห้อง ตามแถลงการณ์ของ The Isaan Record หนึ่งในประชาชนที่ได้รับการบาดเจ็บ ถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่เบ้าตา อาจส่งผลให้ตาบอดได้
อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2565 นายกรัฐมนตรีออกประกาศให้ 20 สถานที่และถนน รวมถึงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นสถานที่ตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ระบุว่า การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่
ข้อกฎหมายดังกล่าวได้ระบุให้ ผู้จัดการชุมนุมขออนุญาตจัดการชุมนุมต่อทางการไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการจำกัดจนเกินขอบเขตต่อสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ และไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ภาพจาก BBCThai
ที่มาภาพปก: BBCThai