ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาฯ เผยไทยพบโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน BN.1 แล้ว ไม่ต่ำกว่า 5 ราย คาดอาจระบาดแทนที่ BA.5 ด้านสหรัฐฯ ยังจับตา พร้อมเผยผลวิจัยพบไม่ดื้อยาแอนติบอดีสำเร็จรูป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า
โอไมครอนสายพันธุ์ย่อยที่ตรวจพบในไทย BA.5, BA.2.75, BF.7, BQ.1, XBB และ XBB.1 ควรรักษาด้วยยาแอนติบอดีประเภทใด?
โอไมครอนสายพันธุ์ย่อยที่ตรวจพบในประเทศไทยจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์ข้อมูลบนฐานข้อมูลโควิดโลก 'กิสเสด (GISAID)' 6 อันดับแรก (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ย. 2565) คือ
-
BA.5* (BA.5.X) จำนวน 2,550 ราย 33%
-
BA.2.75* (BA.2.75.X) จำนวน 61 ราย 1.4%
-
BF.7 จำนวน 2 ราย <0.5%
-
BQ.1 จำนวน 1 ราย <0.5%
-
XBB จำนวน 1 ราย <0.5%
-
XBB.1 จำนวน 2 ราย (อยู่ในระหว่างคำนวณ %)
อนึ่งโอไมครอนที่พบจากผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมีจำนวนมากว่า 17,781 ราย คิดเป็นร้อยละ 71 (ระหว่าง 12 ก.ย. 2564- 27 ก.ย.2565) โดยยังไม่พบโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1.1, และ สายพันธุ์ลูกผสม XBC จากฐานข้อมูลโควิดโลก 'กิสเสด' ในขณะนี้ (15/11/2565)
ประเทศไทยมีการจัดเตรียมแอนติบอดีสำเร็จรูป แบบ Long Acting Antibodies (LAAB) ที่มีชื่อว่า 'อีวูชีลด์ (Evusheld)' เพื่อรักษาการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มประชาชนเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ไม่ดี เช่น ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ปลูกถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายไขกระดูก หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้โดยยา 'อีวูชีลด์' สามารถใช้รักษาการติดเชื้อสายพันธุ์ BA.5*, BA.2.75* และสายพันธุ์ลูกผสม XBC (ยังไม่พบในประเทศไทย) ได้ดี
ส่วนโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1,BQ.1.1, XBB, และ XBB.1 จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าดื้อต่อแอนติบอดีสำเร็จรูป "อีวูชีลด์" อาจต้องเปลี่ยนไปใช้แอนติบอดีค็อกเทลที่มีศักยภาพสามารถยับยั้งไวรัสโคโรนา 2019 หรือ SARS-CoV-2 ได้ทุกสายพันธุ์ (Broadly Neutralizing Monoclonal Antibodies) อาทิ แอนติบอดีค็อกเทล SA55 และ SA58 ซึ่งผลจากห้องปฏิบัติการพบว่าสามารถยับยั้ง ไวรัสโคโรนา 2019 ได้ทุกสายพันธุ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ดร.อาชิช จา (Ashish Jha) หัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจด้านโควิดของทำเนียบขาว ได้กล่าวว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันความเสี่ยงของการเจ็บป่วยรุนแรงถึงเสียชีวิตจากโควิด-19 แทบจะเป็น 'ศูนย์' สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนดและผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในทันทีไม่ว่าจะเป็นยาเม็ดหรือยาฉีดภายใต้ดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
BN.1 ไม่ดื้อต่อยาแอนติบอดีสำเร็จรูป
นอกจากนี้ ศูนย์จีโนมฯ ยังโพสต์ข้อความอีกว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (U.S. CDC) กำลังติดตามโอไมครอน สายพันธุ์ใหม่ 'BN.1' ซึ่งถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ย่อยลำดับที่ 6 ที่สหรัฐต้องเฝ้าติดตาม ไทยพบแล้วไม่น้อยกว่า 5 ราย มีความเป็นไปได้ที่อาจระบาดมาแทนที่ BA.5
โอไมครอน 'BN.1' พบการติดเชื้อในสหรัฐฯมากกว่า 4.3% ทำให้เป็นสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุดอันดับที่ 6 ของประเทศ ตามหลังโอไมครอน BA.4.6 (5.5%)
โอไมครอน BN.1 มีชื่อเต็มว่า B.1.1.529.2.75.5.5.1 เป็นทายาทของโอไมครอน BA.2 มีศักยภาพสูงในการหลบหนีภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน
จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก 'GISAID' พบ BN.1 ในประเทศไทยจากผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 5 ราย ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยลำดับที่ 3 ที่ไทยควรเฝ้าติดตาม (อันดับ1 คือ BA.5 ลำดับสองคือ BA.2.75)
โอไมครอน BN.1* [BN.1.3 (87.50%), BN.1 (6.25%), BN.1.2 (6.25%)] ในประเทศไทยมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.5* [BA.5.2 (55.04%), BA.5.2.26 (13.51%), BA.5.2.1 (11.69%), BA.5.2.22 (6.57%), BA.5.1 (3.02%)] ถึง 131%
โอไมครอน BN.1* มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.2.75* [BA.2.75 (24.49%), BA.2.75.1 (8.16%), BA.2.75.2 (8.16%), etc.] ประมาณ 47%
จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันที่โอไมครอน BN.1 จะระบาดมาแทนที่โอไมครอน BA.5 ในประเทศไทย เมื่อ BA.5 อ่อนกำลังลง เนื่องจากมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เหนือกว่า BA.2.75* ซึ่งเป็นโอไมครอนลำดับสองรองจาก BA.5 ที่ระบาดในไทย
การทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าเชื้อโอไมครอน BN.1 ยังไม่ดื้อต่อยาแอนติบอดีสำเร็จรูป 'อีวูชีลด์'