“อดีตรองเลขาฯป.ป.ช.”ส่งทนายยื่นฟ้องศาลปกครอง ขอเพิกถอนมติ ปปช. ซัดไต่สวน-ลงมติ ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ชี้กรรมการมีอคติ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ศาลปกครอง นายอาทร ดำคง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เดินทางมายื่นฟ้อง ประธานป.ป.ช.และ คณะกรรมการคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของประธานป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่มีคำสั่งลงโทษไล่นายประหยัด พวงจำปา ออกจากราชการ
โดยนายอาทร กล่าวว่า ตามมติการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช ที่มีมติว่านายประหยัด ร่ำรวยผิดปกติ และมีคำสั่งลงโทษไล่ออก ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ อาทิ ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของคณะกรรมการไต่สวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งขึ้น ไม่ปรากฏว่านายประหยัด มีการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการอันจะเป็น ความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด โดยทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติเป็นทรัพย์สินของคู่สมรสซึ่งสามารถแสดงหรือพิสูจน์ถึงการได้มาซึ่งทรัพย์สินได้อย่างครบถ้วน โดยรายการทรัพย์สินต่างๆ มีทั้งในส่วนที่ถือครองแทนบุคคลอื่นเพื่อช่วยเหลือในทางธุรกิจ หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการประกอบธุรกิจใน ครอบครัว (กงสี) และเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนที่นายประหยัด จะเข้ารับตำแหน่งรองเลขาธิการ ป.ป.ช.
นอกจากนั้น นายประหยัด ไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องและตำแหน่งรองเลขาธิการป.ป.ช. ที่ได้รับการแต่งตั้งก็ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ที่จะใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต หรือ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินที่มีการชี้มูลเเต่อย่างใด ทั้งนี้กรรมการ ป.ป.ช. บางราย มีส่วนได้เสียในเรื่องที่กล่าวหา มีอคติ มีความไม่เป็นกลาง และแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อกลั่นแกล้ง และการที่มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ลงมติชี้มูล มีคะแนนเสียงเท่ากัน (4 : 4 ) แต่ปรากฏว่ามีการชี้มูลไปในทางที่เป็นผลร้ายแก่นายประหยัดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
นายอาทร กล่าวอีกว่า การยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางในครั้งนี้ เพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีของข้าราชการมิให้ ถูกกลั่นแกล้ง และต้องการสร้างบรรทัดฐานในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากติดตามข่าวสารจะพบว่ามีหลายคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่ชี้มูลความผิดโดยยังเป็นที่ เคลือบแคลงสงสัยของประชาชน หรือหลายคดีที่เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล แต่เมื่อมีการ ฟ้องร้องต่อศาลปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง