วงเสวนามธ.ชี้ประเด็น APEC 2022 มีหลากหลาย : ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ-ได้ประโยชน์ด้านความยั่งยืน-เอเปคไม่มีอะไรใหม่-BCG Model เอื้อทุนรายใหญ่-จีนยินดีสนับสนุนเอเปค-ปัญหาในเอเปค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 15 พ.ย. 2565 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนาวิชาการ 'เอเปค-ประเทศไทย 2022 : ความมุ่งหมายและความสำเร็จ (APEC-Thailand 2022 : Challenges and Achievement)' มีนักวิชาการ นักการทูต ภาครัฐ เข้าร่วม
การเสวนาครั้งนี้ผู้เข้าร่วมเสวนาแสดงทัศนะต่อเอเปคหลายหลายประเด็น ทั้งด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ไทยได้ประโยชน์ในด้านความยั่งยืนจากการจัดเอเปค การประชุมเอเปคไม่มีนโยบายใหม่ ๆ เกิดขึ้น BCG Model ที่เอื้อกลุ่มทุนรายใหญ่ จีนยินดีสนับสนุนเอเปค และปัญหาในเอเปค
เริ่มต้นที่ รศ.ดร.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า บทบาทสตรีในการพัฒนาเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสตรี แผนการของเอเปคที่พยายามทำให้สตรีเข้าถึงภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจ ตลาดทุนต่าง ๆ มากขึ้น เข้าถึงการศึกษาเพิ่มทักษะต่าง ๆ อัตราส่วนผู้ประกอบการเพศหญิงเพิ่มขึ้น สถานการณ์ที่ผู้หญิงในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงการตัดสินใจมากขึ้น จำนวนร้อยละของผู้บริหารระดับสูงเพศหญิงเพิ่มขึ้น
ก็หวังว่าการประชุมเอเปคในครั้งนี้ จะสามารถขับเคลื่อนมาตรการที่เป็นรูปธรรมที่จะนำไปสู่การยอมรับในความหลากหลายและความแตกต่างระหว่างกัน ทั้งในแวดวงเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นความท้าทายร่วมกันของโลก ไม่ว่าเพศใด ๆ เราทุกคนต่างก็มีส่วนในการสร้างและรับผิดชอบต่อโลกใบนี้เสมอ เพราะความแตกต่างโลกจึงพัฒนามาได้ไกลจนทุกวันนี้
ด้านนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า จำนวนผู้หญิงที่ทำงานในกระทรวงต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ก็เพิ่มขึ้นในกระทรวงการต่างประเทศ ขณะที่สิ่งที่ภาครัฐจะนำเสนอต่อเอเปคจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับภาวะโลกรวน เศรษฐกิจแบบ BCG เป้าหมายกรุงเทพฯ 2022 ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ เช่น จีน-ไต้หวัน รัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น ไม่ได้หยิบยกมาพูดถึงมากนัก
“เขตเศรษฐกิจเอเปค คนไทยจะได้แนวทางในการป้องกันเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น แนวทางการจัดการโรคระบาดใหม่ ๆ อาจจะดียิ่งขึ้น การเดินทางอาจจะสะดวกมากขึ้น ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันสังคมก็จะมีความยั่งยืนมากขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่คนไทยน่าจะได้” นายธานีกล่าว
ขณะทีนายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการประจำ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ. กล่าวว่า การคิดว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรจากการรวมกลุ่มไม่ใช่วิธีคิดของการรวมกลุ่มใด ๆ แต่เรามีสิทธิ์ในการวางนโยบายให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด โดยบทบาทของเอเปคที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้บทบาทของอาเซียนลดลง การวิเคราะห์นโยบายของเอเปคกับเศรษฐกิจโลกที่มีเบื้องหลังโดยประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ การทำความเข้าใจปัญหาของเอเปคที่มีความซับซ้อนเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของไทย
“เอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพประเทศไทยได้ริเริ่มอะไรใหม่ ๆ อย่างชัดเจนไหม นอกเหนือจากที่เอาบางประเด็นซึ่งมันก็ดูเป็นแฟชั่น BCG ดูดีนะใคร ๆ ก็พูด ให้ความสำคัญกับประชาชน SME มากขึ้น แต่ว่ามีอะไรที่ริเริ่มใหม่ ๆ ไหม ที่มองทะลุเพื่อผลประโยชน์ของภูมิภาคและผลประโยชน์ของไทยด้วย” นายอนุสรณ์กล่าว
นายหลี่จือเจี่ย (Li Zhijie) นักศึกษาหลักสูตรไทยศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงผลกระทบของเอเปคที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทย โดยจีนยินดีให้ความร่วมมือกับเอเปคและสนับสนุนสันติภาพในประเทศแถบเอเชีย
“เพราะเรา (จีน) เชื่อว่ามีเพียงการร่วมมือกันเท่านั้นที่จะทำให้โลกดีขึ้นและดียิ่งขึ้นในรุ่นลูกหลาน จีนยินดีให้ความร่วมมือกับเอเปคและสนับสนุนความเป็นเอกภาพของเอเปคเสมอ” นายหลี่จือเจี่ยกล่าว
น.ส.วนัน เพิ่มพิบูลย์ มูลนิธิพลังงานทดแทนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มทุนขนาดใหญ้เข้ามามีบททบาทในเอเปคเป็นส่วนมาก นโยบาย BCG ที่ตอบสนองต่อกลุ่มทุนรายใหญ่มากกว่าประชาชน การที่กลุ่มทุนใช้การฟอกเขียวบังหน้าในการดำเนินธุรกิจ
“ประเทศไทยสนับสนุนเยอะเรื่อง BCG ว่าเป็นแนวทางที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้า ดิฉันกำลังบอกว่ามันเป็นการส่งเสริมการทำธุรกิจที่ถูกมองว่าเป็นการฟอกเขียว หรือทำให้กลุ่มทุนยังคงเดินหน้าทำธุรกิจแล้วได้กำไรเหมือนเดิมบนความเดือดร้อนของกลุ่มคนและผู้บริโภค รวมทั้งพี่น้องเกษตรกรและชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน เพราะไม่ได้มีการพูดถึงการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง” น.ส.วนัน กล่าว
ปิดท้ายที่ ดร.กอบศักดิ์ ชุติกุล ที่ปรึกษากรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า ประเด็นความขัดแย้งในเอเปคเกี่ยวกับเรื่องยูเครนยังไม่ค่อยมีคนรู้มากนัก แต่ก็มีปัญหาจริง อีกทั้งยังมีปัญหาการใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับภาวะโลกรวน ต้องติดตามผลกันต่อไปว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร จากนั้นดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เปลี่ยนโลก ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่มีต่อจีนและที่มีต่อยุโรปกับอเมริกา
“เป็นเรื่องที่เรายังไม่ค่อยได้ยินกันมากนักว่ามีความขัดแย้งในเอเปค เพราะขณะนี้เอกสารที่จะออกมา นอกจากเรื่องของถ้อยคำเกี่ยวกับยูเครน ก็ยังมีปัญหาการใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับภาวะโลกรวนด้วย” ดร.กอบศักดิ์กล่าว