'อาเซียน' ขู่ขับเมียนมาออกจากการประชุมในอนาคต หากไม่เดินหน้าแผนสันติภาพ รับติดตามฉันทามติไม่คืบหน้า ขณะมาเลเซียค้านแผนเลือกตั้งเมียนมาปีหน้า ชี้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่มีส่วนร่วม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวอ้างอิงข่าวจากสำนักข่าว The Star ของมาเลเซียระบุถึงผลการประชุมสุดยอดผู้นำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนว่าผลการประชุมสุดยอดที่เพิ่งจะเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา บรรดาผู้นำประเทศอาเซียนได้เตือนเมียนมาว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการตามแผนสันติภาพที่นำไปปฏิบัติได้มิฉะนั้นเมียนมาจะมีความเสี่ยงที่จะถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมในอนาคต อันเนื่องมาจากปัญหาความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองที่กำลังปกคลุมประเทศ ณ เวลานี้
ทั้งนี้ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาผู้นำอาเซียนยอมรับว่ามีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการติดตามให้เมียนมาทำตามฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อจะลดความรุนแรงในประเทศควบคู่ไปกับการใช้มาตรการอื่นๆ ส่วน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมสุดยอด และการประชุมหลังจากนี้ เว้นเสียแต่ว่ากองทัพเมียนมาจะได้มีการดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่มีต่อผู้นำอาเซียน
ขณะที่นายดาโต๊ะ เสรี ไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมาเลเซียกล่าวว่ามาเลเซียมีจุดยืนที่ไม่สนับสนุนการที่รัฐบาลทหารเมียนมาออกมาให้สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2566 โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลเผด็จการทหารนั้นมีการแก้ไขกฎเกณฑ์บางประการและแผนงานของรัฐบาลทหารเมียนมาที่จะให้มีการเลือกตั้งนั้นขาดการมีส่วนร่วมกับฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
“มันไม่ถูกต้องทางศีลธรรมสำหรับรัฐบาลเผด็จการทหารที่จะพูดถึงการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ที่จัดขึ้นในเมียนมาภายใต้การสังเกตจากผู้สังเกตการณ์นานาชาตินั้นได้รับการยอมรับว่ามีความเสรี และยุติธรรมต่อประชาชนส่วนใหญ่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมาเลเซียกล่าว
นายไซฟุดดีนกล่าวต่อไปด้วยว่าก่อนหน้านี้เขาได้ประชุมวิดีโอทางไกลกับนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ และได้ร้องขอความช่วยเหลือจากนายกูเตอร์เรสให้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มฟอรั่มที่เรียกว่า 'Inclusive Humanitarian Donor Forum ซึ่งจะเป็นกลุ่มความช่วยเหลือางมนุษยธรรมต่อเมียนมาที่จะมาจากประเทศต่างๆทั่วโลก โดยคำขอดังกล่าวนั้นมาจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา เพื่อจะทำให้เกิดความมั่นใจว่าความช่วยเหลือทางการเงินที่จะส่งไปถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือเอ็นจีโอในประเทศเมียนมานั้นมีความโปร่งใส
รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียกล่าวต่อไปด้วยว่าในตอนนี้มีเอ็นจีโอหลายแห่งต้องการที่จะช่วยเหลือในด้านของมนุษยธรรม แต่ก็ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมา
อนึ่งเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์ก็ได้รายงานข่าวว่ากระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมาได้คัดค้านแถลงการณ์ของประเทศอาเซียนอื่นๆโดยระบุว่า
“เมียนมาจะไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องลดความตึงเครียด ใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่ รวมถึงรับผิดชอบต่อการใช้อาวุธ และการประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น”
ทั้งนี้ที่ผ่านมาอาเซียนไม่สนับสนุนการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมา เหมือนที่หลายประเทศทางตะวันตกได้บังคับใช้ หรือแม้แต่ขับไล่ออกจากกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากหลักปฏิบัติที่มีมายาวนานของอาเซียนระบุว่าจะไม่แทรกแซงอธิปไตยของประเทศสมาชิกอื่นๆ
แต่อาเซียนยังคงประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องในประเทศ ซึ่งรวมถึงการโจมตีทางอากาศ การประหารชีวิตนักโทษ การจับกุมและกักขังผู้นำทางการเมือง รวมทั้งชาวต่างชาติ การกระทำอื่นๆ
เรียบเรียงจาก:https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2022/11/14/myanmar-junta-risks-total-ban-at-asean-meetings,https://www.nst.com.my/news/nation/2022/11/850667/malaysia-does-not-support-elections-myanmar-promised-junta-next-year-–