'อิรวดี' แฉเมียนมาอาจอยู่เบื้องหลังเสียงวีโต้ห้าม 'เซเลนสกี' สุนทรพจน์ทางไกลกลางที่ประชุมอาเซียน ชี้ 'มิน อ่อง ลาย' ต้องการขอบคุณรัสเซีย ไม่อยากให้พันธมิตรขายหน้ากลางที่ประชุม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวการประชุมสุดยอดผู้นำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียน โดยอ้างอิงข่าวจากสำนักข่าวอิรวดีของเมียนมา ว่ามีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่รัฐบาลทหารเมียนมานั้นอาจจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวีโต้ไม่ให้ประธานาธิบดีโวโลโดมเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนมีถ้อยแถลงทางไกลในที่ประชุมอาเซียน ที่กรุงพรมเปญ ประเทศกัมพูชา
โดยก่อนหน้านี้นั้นมีรายงานข่าวจากสำนักข่าว Khmer Times ของกัมพูชาระบุว่าที่ประชุมอาเซียนได้ห้ามไม่ให้ประธานาธิบดีเซเลนสกีนั้นดำเนินการสุนทรพจน์ทางไกลที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นอ้างอิงมาจากสถานทูตยูเครนประจำประเทศเวียดนาม
รายงานข่าวระบุต่อไปด้วยว่านายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของประเทศกัมพูชานั้นได้เคยพูดคุยกับประธานาธิบดีเซเลนสกีไปแล้ว และมีความเห็นสอดคล้องกับคำขอของประธานาธิบดีเซเลนสกีว่าจะให้เขาสุนทรพจน์ทางไกลในที่ประชุม เพื่อหาเสียงสนับสนุนหลังจากที่ยูเครนถูกรัสเซียรุกราน
อนึ่งในการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งของที่ประชุมอาเซียนนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกประเทศจะต้องมีความเห็นร่วมกันเป็นฉันทามติเสียก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้ ดังนั้นจึงหมายความว่าแค่มีเพียงประเทศสมาชิกไม่เห็นด้วยเพียงหนึ่งราย ก็สามารถยับยั้งการตัดสินใจของกลุ่มได้
สำนักข่าวอิรวดีรายงานข่าวต่อไปด้วยว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่ทราบว่าประเทศใดที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวีโต้ห้ามไม่ให้ประธานาธิบดีเซเลนสกีสุนทรพจน์ทางไกล หลังหลักฐานโดยอ้อมชี้ไปที่รัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งแสดงจุดยืนสนับสนุนการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างชัดเจน อีกทั้งรัสเซียยังเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาลทหารเมียนมา
“เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พล.อ.มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ต้องการไม่ให้พันธมิตรผู้ทรงอำนาจของตัวเองนั้นได้รับความอับอายต่อหน้าที่ประชุมอาเซียน ด้วยการปล่อยให้ศัตรูของพันธมิตรนั้นปราศรัยบนเวที แม้แต่ทางวิดีโอ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า มิน อ่อง ลาย ต้องการที่จะแสดงความขอบคุณต่อรัสเซียด้วยการยับยั้งสุนทรพจน์ของเซเลนสกี” สำนักข่าวอิรวดีระบุ
ทั้งนี้แม้ว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะถูกห้ามไม่ให้มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน รวมถึงการประชุมอื่นๆตั้งแต่เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่าไม่ยอมเคารพในฉันทามติ 5 ข้อ ที่ออกเมื่อเดือน เม.ย. 2564 แต่ว่าเมียนมานั้นยังคงเป็นหนึ่งในสมาชิกทั้งสิบประเทศของอาเซียน จึงทำให้เมียนมามีสิทธิในการวีโต้ค้านการตัดสินใจต่างๆ
เรียบเรียงจาก:https://www.irrawaddy.com/news/the-world-myanmar/myanmar-junta-in-spotlight-after-zelensky-barred-from-asean-summit.html