ป.ป.ช. เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา 'วนิดา สุริต' อดีต ผอ.โรงเรียนวัดศรีอัมพวัลย์ นครสวรรค์ มีส่วนได้เสียในการจัดจ้างขยายเขต-ติดตั้งประปา-เปลี่ยนแปลงพัสดุที่สั่งจ้างโดยมิชอบ ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นให้รอลงอาญาพวก 3 ราย ถูกปรับเงินเพิ่ม -ส่วนเจ้าตัว โดนยืนโทษคุก 1 ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นางวนิดา สุริต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศรีอัมพวัลย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ กับพวก 3 ราย ประกอบไปด้วย นางทิชา พิมพ์สอน นายเขียน พุทธเษม และนางยุพดี ศาสตร์จรีสกุล มีส่วนได้เสียในการจัดจ้างขยายเขตและติดตั้งประปาเพื่อใช้ในโรงเรียน และเปลี่ยนแปลงพัสดุที่สั่งจ้างโดยมิชอบ
ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม ป.อ.มาตรา 151 มาตรา 152 มาตรา 157 มาตรา 162 (1) (4) และพ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565 ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 จากที่พิพากษาว่า นางวนิดา สุริต จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 152 มาตรา 157 และพ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1
จำคุก 1 ปี
นางทิชา พิมพ์สอน จำเลยที่ 2 และ นางยุพดี ศาสตร์จรีสกุล จำเลยที่ 4 มีความผิดตามมาตรา 157,162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 83
จำคุกคนละ 1 ปี
นายเขียน พุทธเษม จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 157,162 (1) (4) ประกอบมาตรา 86
จำคุก 8 เดือน
แก้เป็นว่า นายเขียน พุทธเษม จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 157 ,162 (1)(4) พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบ ปอ. มาตรา 86
การกระทำของ นายเขียน พุทธเษม จำเลยที่ 3 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามพ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ.มาตรา 90
ให้ลงโทษปรับ นางทิชา พิมพ์สอน จำเลยที่ 2 และ นางยุพดี ศาสตร์จรีสกุล จำเลยที่ 4 คนละ 20,000 บาท และจำเลยที่ 3 ปรับ 13,333.33 บาท อีกสถานหนึ่ง
โทษจำคุกของ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และ ที่ 4 ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตาม ปอ. มาตรา 56
นอกจากที่แก้ให้เป็น ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ทั้งนี้ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 มีมติเห็นพ้องด้วยในกรณีที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่ฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ