DSI-ตำรวจตรวจค้น เป้าหมายในพื้นที่จังหวัดกระบี่และจังหวัดตรังรวม 5 จุด ขยายผลคดีทุจริตฉ้อโกง-ยักยอกทรัพย์ชุมนุมสหรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ พบเอกสาร-หลักฐานเชื่อมโยงทุจริตเพียบ ขณะอธิบดีเผยเป็นส่วนหนึ่งของแผนยกระดับ DSI
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีฉ้อโกงและยักยอกชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดกระบี่ ได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ประสานกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมือง ตรัง เข้าตรวจค้นเป้าหมายที่ 4 และ5 ในพื้นที่จังหวัดตรัง
พ.ต.ท.บรรจบ อยู่ยืนยง รองผู้อำนวยการกองคคีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ประสานกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนกองร้อย ที่ 426 กระบี่ เข้าตรวจค้นเป้าหมายที่ 1-2
นายประมุข วิจารณ์ปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลื่อลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเข้าตรวจค้นเป้าหมายที่ 3
โดยเป้าหมายในพื้นที่ จ.กระบี่ 3 จุด ประกอบไปด้วย
1. บ้านเลขที่ 117 หมู่ 2ตำบลทรายขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
2. บ้านเลขที่ 5 หมู่ 1 ตำบลพรุดินนา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ มีผู้ครอบครองคือ นายยุทธนา ทวีพรวัฒนกุล เนื่องจากปรากฎข้อมูลว่าเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงในนามของบริษัท กระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม จำกัด และต่อมาชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้ยื่นหนังสือกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมร่วมกันนายปกครอง ชูศรี และนายประยงค์ จินาวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีพิเศษและกลุ่มผู้จัดตั้งบริษัท กระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม จำกัด เข้าร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในโรงงานหรือทรัพย์ที่เกิดจากการกระทำความผิด
3. บ้านเลขที่ 19 ถนนจันทร์กวีกูล ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ มีผู้ครอบครองคือ นายภาณพ พิณทอง เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายภาณพ มีส่วนร่วมกับการประชุมของคณะกรรมการและมีบทบาทสำคัญในการชักจูงให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ ขายโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สาขาคลองท่อม และยังปรากฏข้อมูลว่าอาจเป็นผู้ยกร่างสัญญาจะซื้อจะขาย โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สาขาคลองท่อม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท กระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม จำกัด ในการเข้าทำสัญญากับชุมนุมสหกรณ์ฯ โดยใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานราชการเป็นเครื่องมือในการกระทำการ
ในพื้นที่จังหวัดตรังมีการตรวจค้น 2 จุด ได้แก่
1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตรังวิรุณกิจขนส่ง เลขที่ 62 ถนนจริงจิตร ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตรังวิรุณกิจขนส่ง เลขที่ 20/35 ถนนบางรัก ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ผู้ครอบครอง-- ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตรังวิรุณกิจขนส่ง
ผลจากการตรวจปรากฏว่าพบเอกสารที่เชื่อมโยงกับชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดกระบี่และบริษัทครอบครองโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มกรรมสิทธิ์ของชุมนุมสหกรณ์ชาวสาวนปาล์มน้ำมันกระบี่ ที่ผู้ต้องหาครอบครองทรัพย์อยู่ในขณะนี้ซึ่งเป็นการครอบครอง ทรัพย์มิชอบจำนวนมากที่เป็นประโยชน์กับการคลี่คลายคดีทุจริตในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มจังหวัดกระบี่
ทั้งนี้การตรวจค้นดังกล่าวนั้นมาจากข้อมูลว่า ผู้บริหารของชุมนุมสหกรณ์ฯ ที่เป็นผู้ต้องหาในคดี มีการนำรถส่วนตัวของตนมาเข้าร่วมรับจ้างขนย้ายน้ำมันปาล์มจากชุมนุมสหกรณ์ฯ ในนามของ หจก.ตรังวิรุณกิจขนส่ง และยังปรากฏข้อมูลจากพยานบุคคลว่ามีผู้ต้องหาซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารในชุมนุมสหกรณ์บางรายมีการโอนรถยนต์บรรทุกพ่วงมีชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ คือ หจก.ตรังวิรุณกิจขนส่ง เพื่อเป็นการชำระหนี้ของตนเอง พฤติการณ์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ตรังวิรุณกิจขนส่ง จึงอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน“สนับสนุนผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน” และ “ในกรณีที่สหกรณ์กระทำความผิดกรรมการหรือผู้จัดการ ซึ่งเป็นผู้ลงมติให้สหกรณ์ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการ หรือเป็นผู้ดำเนินการหรือรับผิดชอบในการดำเนินการนั้น ได้กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353และพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542มาตรา 51/1 51/2 ประกอบมาตรา133/5 ประกอบมาตรา 86 และพฤติการณ์ยังอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ฟอกเงิน”
ขณะที่นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า เนื่องจาก DSI เป็นกรมขนาดใหญ่ มีบุคลากรที่ได้รับการจัดสรรไม่มาก จึงได้ปรับปรุงยกระดับการทำงานสู่มาตรฐานให้ใกล้กับ FBI หรือหน่วยงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา โดย DSI จะเดินทางไปปฎิบัติภารกิจตรวจค้น จับกุมทั่วประเทศ จะใช้บุคลากรที่มีความรู้ เชี่ยวชาญตามภารกิจไปปฏิบัติงานไม่มาก อาจจะใช้เป้าหมายหรือพื้นที่ละ 1-3 คน แต่เราจะใช้เครื่องมือในอำนาจที่มี ตาม มาตรา 22/1 พรบ.DSI ในการไปสนธิกำลังจากหน่วยของรัฐ ในพื้นที่ทั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทหาร หรือ หน่วยงานอื่นๆ ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นการรองรับในอนาคตอันใกล้ที่ DSI จะยกระดับขยายเป็น Super กรม ที่จะมีหน่วยงานต่าง ๆ รองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นอีก เช่น ภารกิจด้านการฟอกเงินขนาดใหญ่ ขบวนการปล่อยเงินเกินอัตรา การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ขบวนการค้ายาเสพติดรายใหญ่ คดีด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น