โควิดในไทยเพิ่มขึ้น 4-5% บอร์ดวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบกรอบจัดหาวัคซีนโควิด ปี 66 สธ.เตรียมลุยแผนฉีดปีหน้า 36 ล้านโดส ใช้โมเดลเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองกรมควบคุมโรค ได้นำเสนอเรื่องเพื่อพิจารณา เรื่องที่ 1 คือ กรอบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่า จากการที่กรมควบคุมโรคมีเป้าหมายที่จะลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ป่วยหนัก และเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรัง (608) และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงประชาชนทั่วไปตามความสมัครใจ ซึ่งควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 1-2 ครั้งต่อปีนั้น
แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก จึงต้องติดตามคำแนะนำการให้วัคซีนโควิด-19 ในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด รวมทั้งนำประเด็นเข้าหารือในการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้คำแนะนำสำหรับการให้วัคซีนโควิด-19 อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ที่ประชุม มีมติเห็นชอบในหลักการ
ในส่วนของแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในระยะที่เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังว่า กรมควบคุมโรคได้มีแผนบริหารจัดการกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่ม 608 กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงกลุ่ม อสม.
โดยเสนอให้มีการจัดหน่วยฉีดวัคซีนหลักประจำจังหวัดและอำเภอ Well baby clinic ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน Group Vaccination อาทิ บ้านพักคนชรา สถานสงเคราะห์ รวมถึงจัดให้มีหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ พร้อมทั้งเสนอให้มีการจัดกิจกรรม Vaccination Day of the Week
ทางด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ นำเสนอ สำหรับเรื่องเพื่อพิจารณา เรื่องที่ 2 คือ (ร่าง) นโยบายสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดซื้อจัดหาวัคซีน เพื่อเป็นนโยบายในการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีบทบาทเป็นส่วนเสริมจากแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนให้กับประชาชนในท้องที่ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ โดยมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรคเป็นผู้ประสานการดำเนินงาน
จากนั้น นพ.นคร นำเสนอเกี่ยวกับความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้ว่า มีวัคซีนโควิด-19 ที่ได้ทำการทดสอบในมนุษย์แล้ว จำนวน 4 ชนิด ได้แก่
-
วัคซีนโควิด19 ชนิด NDV-HXP-S โดยองค์การเภสัชกรรม
-
วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-
วัคซีนโควิด-19 ชนิดดีเอ็นเอ โดยบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด
-
วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax ชนิด Recombinant โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด
ขณะที่วัคซีนวัคซีนโควิด-19 รูปแบบพ่นจมูก โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ใกล้เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า จากข้อมูลการฉีดวัคซีนในไทยกว่า 143 ล้านโดสพบว่าช่วยเซฟชีวิตคนไทยได้กว่า 5 แสนคน ดังนั้น ที่ประชุมมีการพิจารณาแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 ในปี 2566 ซึ่งจะมีการอิงตามรูปแบบการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1-2 เข็ม โดยฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง 608 บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
เบื้องต้นตัวเลขกลุ่มนี้ราวๆ 18 ล้านคน ฉีด 2 เข็ม ก็ใช้วัคซีนประมาณ 36 ล้านโดส โดยใช้งบจากกรมควบคุมโรคเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของผู้ที่ควรได้รับการฉีดก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง
“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิดได้ด้วย เพื่อช่วยกันฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครอบคลุมที่สุด โดยได้มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการประสานดูเรื่องนี้ร่วมกันไม่ให้มีความซ้ำซ้อนเรื่องงบประมาณ กลุ่มเป้าหมาย และไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนสูตรการฉีดเข็มกระตุ้นนั้นต้องมีการพิจารณาตามสถานการณ์เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาวัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงตลอด อย่างไรก็ตามในส่วนของวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ที่มีการติดตาม ณ ตอนนี้เรื่องของประสิทธิภาพ ประสิทธิผลพบว่ายังไม่แตกต่างจากวัคซีนตัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ที่เปลี่ยนแปลงคือราคาที่สูงกว่าวัคซีนเดิมอย่างมาก ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้ติดตามการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศ ซึ่งพบว่าแม้จะเดินไปได้ช้า แต่ก็ขอให้มีการพัฒนาต่อ เพราะอนาคตยังต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอย่างต่อเนื่อง จึงต้องพึ่งพาการผลิตในประเทศด้วย
"สำหรับสถานการณ์โรคโควิด – 19 ขณะนี้ จากข้อมูลพบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราวๆ 4-5 % ซึ่งเป็นไปตามโมเดลที่มีการคาดการณ์ไว้ เนื่องจากประเทศไทยเริ่มเข้าสู่หน้าหนาว โรงเรียนมีการเปิดการเรียนการสอน และประเทศมีการจัดกิจกรรมต่างๆ จำนวนมากแล้ว ดังนั้นช่วงนี้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันการป่วยหนัก ป้องกันการเสียชีวิต" นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าผลการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีหลายหน่วยงานของไทยก้าวหน้า แม้จะยังไม่ขึ้นทะเบียน แต่ขอให้ต่อยอดต่อไป เพราะอนาคตอาจต้องฉีดวัคซีนโควิดอีกหลายเข็มหลายโดส เพื่อพึ่งพาศักยภาพการผลิตของประเทศไทยได้เอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพัฒนาวัคซีนมีทั้งรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างจุฬาฯ ทำหลายตัว หรือองค์การเภสัชกรรม ไบโอเทค ส่วนเอกชนก็มีไบโอเนทเอเชีย สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นต้น เป็นเครือข่ายพัฒนาวัคซีนโควิดต่อรวมถึงวัคซีนอื่น