ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ร่วมโครงการนานาชาติ พัฒนาการตรวจหายีนต้นเหตุ 'ลองโควิด' ด้านสหรัฐฯ ทุ่มพันล้านดอลลาร์วิจัยรักษาด้วยยาต้านไวรัส เริ่มทดลองทางคลินิกปีหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า ความพยายามในการรักษาอาการ "ลองโควิด" ด้วยยาต้านไวรัส สหรัฐทุ่ม 1 พันล้านดอลลาร์หรือ 3.7 หมื่นล้านบาทกับโครงการ “RECOVER” เริ่ม 1 มกราคม 2556
สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) แถลงว่าจะมีการทดลองใช้ยาเม็ดต้านไวรัสที่ยับยั้งการสร้างอนุภาคไวรัสโคโรนา 2019 มาใช้รักษาอาการลองโควิด (Long Covid) ภายใต้โครงการวิจัยและการทดลองทางคลินิกสำหรับโรคลองโควิด-19 ที่มีชื่อว่า “RECOVER Initiative” โดยได้รับทุนวิจัยมูลค่า กว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.7 หมื่นล้านบาท มี Duke Clinical Research Institute ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย "ดุ๊ก (Duke)" ที่เป็นองค์กรวิจัยทางคลินิกเชิงวิชาการที่ใหญ่ที่สุดในโลกเข้ามาดูแลการทดลองแบบสุ่มและควบคุมด้วยยาหลอก ซึ่งจะทดสอบการรักษาอาการลองโควิดด้วยยาต้านไวรัสประเภท "สารยับยั้งโปรตีเอส (protease inhibitor) ที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ของไวรัสไม่ให้สร้างอนุภาคไวรัสที่สมบูรณ์ มีอาสาสมัครในช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,700 คนที่มีอาการลองโควิดเข้าร่วมโครงการ โดยจะสุ่มให้ได้รับยายับยั้งโปรตีเอสและยาหลอก มีกำหนดเริ่มการทดลองทางคลินิกในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566
ทำไมต้องรักษาอาการลองโควิดด้วยยาต้านไวรัส
อาการลองโควิดส่งผลกระทบต่อผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประมาณถึง 1 ใน 3 (10%-30%) โดยปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ จากการค้นคว้าวิจัยมาตลอดระยะเวลาเกือบสามปีพอสรุปได้ว่าอาการลองโควิดหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่าผลสืบเนื่องอย่างเฉียบพลันที่เกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 (Post Sequelae of COVID-19: PASC) น่าจะเกิดมาจาก 4 สาเหตุหลัก
-
การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดขนาดเล็กที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ (เนื่องจากการติดเชื้อโควิด-19)
-
ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย (เนื่องจากการติดเชื้อโควิด-19)
-
ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เรื้อรัง (อันอาจมาจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง) ทำให้บางส่วนหรืออนุภาคไวรัสทั้งตัวปรากฏในร่างกายได้อย่างยาวนานก่อให้เกิดอาการหลากหลายที่ยืดเยื้อซึ่งรวมถึงอาการในสาเหตุที่ 1 และ 2
-
พันธุกรรมจีโนมส่วนบุคคล (ภาพ3-4) ที่ทำให้เกิดอาการลองโควิด
โครงการวิจัย "RECOVER" จะมุ่งเน้นแก้ปัญหาข้อที่ 3 โดยการให้ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ซึ่งเป็นสารยับยั้งโปรตีเอส (protease inhibitor)แก่ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1,700 คน ต่อเนื่อง 15 วันและดูว่าอาการลองโควิดของบรรดาอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการจะมีอาการดีขึ้นภายใน 90 วันหรือไม่
ส่วนการแก้ปัญหาที่ 4 พันธุกรรมจีโนมส่วนบุคคลนั้นศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯดำเนินวิจัยร่วมกับโครงการนานาชาติ “Covid human genetic effort” https://www.facebook.com/.../pfbid02hQ9SYCCUP9TeS5nsrUNEZ...
อาการลองโควิดเป็นอย่างไร
ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) พบว่าสภาวะอาการหลังโควิด-19 มีการเจ็บป่วยด้วยอาการที่หลากหลายมากกว่า 200 อาการ (ภาพ 2.1) อาการบางอย่างสั้นบ้างอาการยาวแล้วแต่ละบุคคล เกิดได้แม้ในผู้ใหญ่สุขภาพสมบรูณ์ที่ไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง โดยมีอาการป่วยคล้าย ME/CFS
อาการ ME/CFS
“Chronic fatigue syndrome (CFS)” หรือรู้จักกันในภาษาไทยว่า “อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง” และ “Myalgic Encephalomyelitis (ME)” หรือ “อาการปวดกล้ามเนื้ออันมีเหตุมาจากการอับเสบของสมองและไขสันหลัง” เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัส ความผิดปกติของฮอร์โมน และความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นต้น
อาการ ME/CFS เป็นโรคที่ร้ายแรงและมีอาการยาวนานกว่าจะหาย ส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ผู้ที่มี ME/CFS มักจะไม่สามารถทำกิจกรรมตามปกติได้ ผู้ที่มีอาการ ME/CFS ขั้นรุนแรงอาจเจ็บป่วยติดเตียงหรือต้องนั่งรถเข็นเลยทีเดียว ผู้ที่มี ME/CFS จะมีปัญหาเรื่องความเหนื่อยล้าและการนอนไม่หลับกระสับกระส่ายอย่างรุนแรง อาการ ME/CFS อาจทรุดลงหลังจากที่ผู้ป่วยฝืนออกกำลังกายหรือพยายามทำกิจกรรมที่เดิมเคยกระทำได้ อาการนี้เรียกว่าอาการไม่สบายหลังการออกแรง (PEM) อาการอื่นๆ อาจรวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการคิดและสมาธิ ความเจ็บปวด และอาการวิงเวียนศีรษะ
การทดลองทางคลินิกของโครงการ “RECOVER” จะพิสูจน์สมมติฐานที่ว่าอนุภาคไวรัสโควิด-19 หรือบางชิ้นส่วนของไวรัสที่ยังมีการแพร่แะลเพิ่มจำนวนในร่างกายอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดอาการลองโควิด โดยจะใช้ยาต้านไวรัสไปยับยั้งหรือทำลายไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังมีหลงเหลืออยู่ในร่างกายผู้ป่วย
การศึกษาครั้งนี้จะช่วยพิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ในการที่จะรักษาอาการลองโควิดที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยยาต้านไวรัสประสิทธิภาพสูงหลังจากมีการติดเชื้อครั้งแรกล่วงมาแล้วหลายเดือน ผลลัพธ์ที่ได้อาจจุดประกายให้เกิดการต่อสู้กับไวรัสประเภทอื่น เช่น Epstein-Barr Virus (EBV) ที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการ ME/CFS ด้วยยาต้านไวรัสเช่นกัน
เราทราบมาโดยตลอดว่าการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการและการรักษาที่รวดเร็วตั้งแต่เริ่มมีอาการจะทำให้มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในระยะยาวสำหรับผู้ที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อจุลชีพและไวรัส การทดลองทางคลินิกครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะรักษาอาการลองโควิดเป็นครั้งแรกด้วยยาต้านไวรัส
ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีได้พัฒนาการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ทั้งจีโนมหรือชิ้นส่วนของจีโนมในร่างกายผู้ป่วยลองโควิดอย่างรวดเร็วภายใน 24-48 ชั่วโมงด้วยเทคโนโลยี long-read whole genome sequencing (nonopore platform) (ภาพ5) และ mass array genotyping (ภาพ6) เป็นที่เรียบร้อย