มติคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก จ.สมุทรสงคราม เคาะไม่ต่อใบอนุญาต ปล่อยสิ้นสภาพ ม.ค.66 ย้ำตามกฎหมายห้ามทำร้าย-ห้ามใช้แรงงานเด็กต่ำกว่า 15 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีมีการออกมาเปิดเผยว่า เด็ก ๆ ในมูลนิธิคุ้มครองเด็ก (บ้านครูยุ่น) อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ถูกทำร้ายร่างกาย และใช้แรงงาน รวมถึงมีแอบอัดคลิปวิดีโอขณะที่เจ้าของมูลนิธิใช้ท่อเหล็กฟาดทำร้ายเด็กคนละหลายครั้ง จนนำไปสู่การตรวจสอบนั้น
เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2565 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดสมุทรสงคราม มีมติให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการนำเด็กที่เหลือกว่า 20 คน ออกมาอยู่ในความคุ้มครองสวัสดิภาพของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ ได้นำเด็กออกมาแล้ว 29 คน
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดสมุทรสงครามมีมติไม่ต่ออายุมูลนิธิคุ้มครองเด็กดังกล่าว เนื่องจากใบอนุญาตดำเนินการจะหมดอายุในเดือน ม.ค. 2566 หลังจากนี้ต้องปล่อยให้สิ้นสภาพการเป็นสถานสงเคราะห์ที่ได้รับอนุญาต แต่หากมูลนิธิดังกล่าว ยื่นขอต่ออายุใหม่เป็นอำนาจของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ซึ่งจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาทั้งด้านกาย จิต สังคม เช่น ด้านสุขอนามัยสาธารณสุข ด้านสถานที่สิ่งแวดล้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการศึกษาและพัฒนาการเด็ก รวมถึงมีสหวิชาชีพเข้าไปร่วมพิจารณา เป็นคณะกรรมการระดับพื้นที่ประเมินก่อนจะเสนอขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เท่าที่ประเมินสภาพแวดล้อมสุขอนามัยในมูลนิธิฯ ดังกล่าวหลังจากที่ลงพื้นที่เห็นว่าต้องมีการปรับปรุงยกใหญ่พอสมควร
ส่วนกรณี นายมนตรี สินทวิชัย หรือครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จะมีผลต่อการขอต่อใบอนุญาตหรือไม่ นายอนุกูล กล่าวว่า ต้องดูเกณฑ์คุณสมบัติเงื่อนไขการขอนุญาตดำเนินการของสถานสงเคราะห์เอกชน กรณีเป็นผู้จัดตั้งหรือเจ้าของว่ามีการกำหนดเป็นเงื่อนไขอย่างไรหรือไม่ แต่หากผู้ถูกกล่าวหาเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเด็กถือว่าหมดสภาพการเป็นเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นความเสี่ยงต่อเด็ก
ผู้สื่อข่าวถามถึงความเหมาะสมในการลงโทษเด็กและการให้เด็กทำงาน นายอนุกูล กล่าวว่า ไม่ว่าจะลงโทษด้วยการตีแบบไหนเป็นสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เพราะไม่ใช่เพียงบาดแผลทางกาย แต่ยังมีเรื่องสภาพจิตใจเด็กส่วนการทำงานเพื่อหารายได้เสริมในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่สามารถทำได้ กรณีเด็กอายุมากกว่า 15 ปี หากไปช่วยงานฝึกการทำงานมีค่าตอบแทนต้องดูที่เจตนาด้วย
กมธ.กิจการเด็กฯ จี้ พม.สอบข้อเท็จจริง
ด้าน นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ.กิจการเด็ก เยาวชนฯ สภาฯ แถลงว่า กรณีมูลนิธิคุ้มครองเด็กชื่อดังใน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ถูกร้องเรียนเรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมทำร้ายร่างกายและใช้แรงงาน ตนตั้งข้อสังเกตว่าสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ให้สัมภาษณ์ว่า มูลนิธิแห่งนี้มีประวัติที่ดีมาโดยตลอด ไม่มีเรื่องด่างพร้อย มีการเข้าไปพูดคุยกับเด็กและติดตามการทำงานตลอดเวลา พมจ.มีการตรวจสอบอย่างไร ซึ่งอันที่จริงสื่อที่ออกมาในโซเชียลมีเดียรวมถึงคำบอกเล่าของเด็กที่ออกมาเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องให้น้ำหนักและจะต้องตรวจสอบ ส่วนการที่อ้างว่าการลงโทษเด็กเป็นเพราะติดสารเสพติดนั้น เราก็ต้องไปดูที่ต้นตอว่ายาเสพติดมาจากไหน เราควรปฏิบัติอย่างไรกับผู้เสพ ตนมองว่าควรมองผู้ที่ติดสารเสพติดเป็นผู้ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือมากกว่าเป็นคนที่ต้องได้รับการลงโทษ เพราะนั้นจะกลายเป็นการส่งต่อความรุนแรงต่อไปในสังคมอย่างที่เป็นอยู่
"พม.ควรจะส่งลงไปตรวจสอบเนื่องจากพมจ. กล่าวว่ามูลนิธิแห่งนี้ไม่มีเรื่องด่างพร้อย เราก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าเขาตรวจสอบอย่างไร โดยกมธ.กิจการเด็ก เยาวชนฯ สภาฯ ก็จะหารือกันในเรื่องนี้ ซึ่งคิดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณา"นายธัญวัจน์ กล่าว
'ครูยุ่น' ยันทำโทษเพราะมีเหตุผล-ปฏิเสธใช้แรงงานเด็ก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา นายมนตรี สินทวิชัย หรือครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก จังหวัดสมุทรสงคราม ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ในข้อหา ทำร้ายร่างกาย และการใช้แรงงานเด็ก ที่ตำรวจภูธรอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
เบื้องต้น นายมนตรี ได้ให้การปฏิเสธ พร้อมทั้งชี้แจงว่า มีเด็กบางกลุ่มในมูลนิธิเป็นคนถ่ายคลิปส่งให้กลุ่มเส้นด้าย เพราะไม่พอใจตนในบางเรื่อง
ส่วนสาเหตุการลงโทษ นายมนตรี ระบุว่า ไม่อยากลงรายละเอียด แต่เป็นการลงโทษเพราะเด็กไปเล่นน้ำเป็นเหตุที่เห็นว่าเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงต้องลงโทษด้วยการตี แต่ลึกๆกว่านั้นเด็กมีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย
นายมนตรี กล่าวย้ำว่า มีเหตุผลที่ต้องตี ไม่ได้เป็นโรคจิตที่จะตีหรือลงโทษเด็กโดยไม่มีเหตุผล เด็กบางคนมีพฤติกรรมที่นำยาเสพติดทั้งกัญชายาบ้ามาส่งต่อให้เด็กเล็กจึงเกิดการลงโทษขึ้น และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา หลังเมื่อปี 2550 ถูกแจ้งข้อหาพรากผู้เยาว์ คือไปช่วยเยาวชนหญิงอายุไม่ถึง 15 ปีมาจากพ่อของเขา ซึ่งคดีจบไปแล้วด้วยการแสดงความบริสุทธิ์ใจนำหมายศาลที่พ่อของเด็กถูกแจ้งจับข้อหาล่วงละเมิดทางเพศมาแสดงต่อตำรวจ และในปี 2565 ปีนี้ ก็ถูกแจ้งข้อหาอีก โดยหลังจากนี้ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย
ส่วนประเด็นเรื่องใช้แรงงานเด็ก นายมนตรี ปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้แรงงานเด็ก