'วิชัย สมรูป' ผอ.สนง.ทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งที่ 4 สุราษฎร์ธานี แจงทุกปมสตง.สอบงานติดตั้งทุ่นดักขยะทะเล กลุ่มจว.ใต้อ่าวไทย พบปัญหาเพียบ ยันชี้แจง-แก้ไขปัญหาหมดแล้ว เผยประกวดราคาปี 64 ล่าช้า ถูกเอกชนยื่นอุทธรณ์ผล แต่เคลียร์หมดแล้ว
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เปิดเผยข้อมูลรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานติดตั้งทุ่นดักขยะทะเลบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ประเด็นการพัฒนาสู่การเป็นเมืองสีเขียวและสังคมคุณภาพ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พบว่ามีข้อบกพร่องการโอนครุภัณฑ์ทุ่นดักขยะให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุ่นดักขยะบางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์ สูญหาย บางแห่งมีชาวบ้านเข้ามาทำลาย ลักขโมย ทำให้เกิดความเสียหาย พร้อมแจ้งข้อสังเกตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปแก้ไขปัญหานั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานโครงการฯ นี้ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
นายวิชัย ยืนยันว่า สตง.ได้เข้ามาติดตามตรวจสอบเรื่องทุ่นดักขยะทะเลจริง ขณะที่หน่วยงานของตน ก็ได้ทำเรื่องชี้แจง และแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของ สตง.หมดแล้ว
นายวิชัย ชี้แจงต่อว่า การดำเนินงานติดตั้งทุ่นดักขยะทะเลบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะในบริเวณปากแม่น้ำและทะเลของประเทศไทย ซึ่งพบว่ามีปัญหาเป็นอันดับ 8 ของโลก การดำเนินการมี 2 ช่วง คือ ปี 2563 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ติดตั้งทุ่นดักขยะตามบริเวณปากแม่น้ำสำคัญต่างๆ ตามเงื่อนไขโครงการหลังเสร็จสิ้นจะต้องมีการโอนครุภัณฑ์ทุ่นดักขยะให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เนื่องจากทุ่นฯ เหล่านี้ ผ่านการใช้งานมาแล้ว บางจุดมีการชำรุด จึงทำให้ อปท.ไม่กล้าที่จะรับโอน ต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกัน ปัจจุบัน อปท.ส่วนใหญ่รับโอนไปแล้ว เหลืออปท.ไม่กี่แห่งที่ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินงาน แต่คาดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร
นายวิชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการดำเนินงานในปี 2564 อยู่ภายใต้การดูแลสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 ที่เข้ามารับดูแลงานต่อ หลังจากที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) แจ้งหน่วยงานส่วนกลางว่า มีปัญหาในขั้นตอนการดำเนินงาน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการไม่ถนัดงานด้านนี้มากนัก
"สำหรับปัญหาในช่วงปี 2564 นั้น สตง.แจ้งมา 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ความล่าช้าในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไม่แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ จุดนี้ได้ชี้แจงกับสตง.ไปแล้วว่า เกิดขึ้นจากปัญหาการอุทธรณ์ผลการประกวดราคาของเอกชนบางราย มีการส่งเรื่องไปยังกรมบัญชีกลางให้พิจารณาแต่ก็มีปัญหาความล่าช้าจากสถานการณ์โควิด ก่อนที่เรื่องจะถูกตีตกไปเพราะเอกชนรายนี้ตกคุณสมบัติ 2. ข้อสังเกตเรื่องความยาวของทุ่น 100 เมตร ที่น่าจะยาวไปสำหรับการนำไปติดตั้งบางจุด กรณีนี้ก็ได้ชี้แจงไปเช่นกันว่า ตามเงื่อนไขโครงการจะต้องดำเนินการจัดตั้งทุ่นฯ ความยาวประมาณ 100 เมตร หน่วยงานไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งสตง.ก็ไม่ได้ติดใจอะไร และ 3. กรณีทุ่นบางจุดความยาวขาดหายไปประมาณ 15 เมตร ก็เป็นผลมาจากถูกเรือประมงทำให้เสียหาย ไม่มีปัญหามาจากเรื่องการทุจริตแต่อย่างใด" นายวิชัย ระบุ
นายวิชัย ยังกล่าวอีกว่า หลังจากที่หน่วยงานฯ ทำเรื่องชี้แจงไปแล้ว สตง.ก็รับทราบ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ขณะที่วัตถุประสงค์สำคัญในการติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ของ สตง. ก็เป็นการติดตามผลสัมฤทธิ์การใช้จ่ายเงินงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าในการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ในภาพรวมทั้งหมด
"ปัจจุบันหน่วยงาน ได้มีการชี้แจงและแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอ สตง.ทั้งหมดแล้ว" ผอ.สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 กล่าวย้ำ