สื่อเมียนมาเผย ข่าวปลอม อ้าง รบ.ไทยออกหมายจับผู้นำกองทัพกะเหรี่ยงระบาดหนัก หวังสร้างความโกลาหลในกลุ่มชาติพันธ์ุ ชี้มีการทำเป็นขบวนการ หวังทำจุดชนวนความขัดแย้ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranrews.org) รายงานข่าวอ้างอิงข่าวจากสำนักข่าว BNI หรือ Burma News International ซึ่งเป็นสื่ออิสระในประเทศเมียนมา ว่าขณะนี้ในประเทศเมียนมานั้นกำลังมีการระบาดของข่าวปลอมซึ่งระบุว่าทางการไทยออกหมายจับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาเกิดขึ้นหลายแหล่งมาก
สำนักข่าว BNI ระบุต่อไปว่ากรณีข่าวปลอมดังกล่าวนั้นมีได้แก่กรณีเฟซบุ๊กซึ่งชื่อว่า Sit Man Zaw นั้นได้มีการอัปโหลดข้อความเมื่อวันที่ 24 ต.ค. อ้างว่าทางการไทยได้มีการออกหมายจับนาย Saw Ne Damya ผู้นำกองทัพสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ควบคู่ไปกับจากออกหมายจับ พ.ท. Saw Yan Naing และ ร.อ. Kyaw Thet นายทหารในกองทัพสหภาพ
บนเฟซบุ๊กของนาย Sit Man Zaw ระบุต่อไปว่าพวกเขาทั้งสามนั้นมีพฤติกรรมเป็นอาชญากรรมและการก่อการร้ายในพื้นที่ถนนสายเอเชียและรัฐกะเหรี่ยง และในประเทศไทย ซึ่งการก่อเหตุดังกล่าวนั้นทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง จึงได้มีการออกหมายจับอยู่บนป้างโฆษณา และจะไม่มีที่ให้พวกเขาทั้งสามได้หลบหนีไป
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักข่าว BNI ได้มีการตรวจสอบข่าวแล้วพบว่านี่เป็นข่าวที่ไม่เป็นความจริง ทางรัฐบาลไทยนั้นยังไม่มีการออกหมายจับผู้นำกองทัพสหภาพฯทั้งสามแต่อย่างไร ซึ่งถ้าหากรัฐบาลไทยได้มีการออกหมายจับจริง สื่อทางการในประเทศไทยนั้นจะต้องมีการรายงานข่าวแล้ว และก็จะต้องมีความโกลาหลในกลุ่มชาวกะเหรี่ยงเกิดขึ้น
สำนักข่าว BNI รายงานข่าวต่อว่าข้อมูลปลอมๆดังกล่าวนี้ ทั้งที่มีเนื้อหาระบุว่ารัฐบาลไทยได้มีการจับกุม การออกหมายจับกลุ่มผู้นำการปฏิวัติกะเหรี่ยง หรือว่าข่าวการเสียชีวิตของผู้นำกะเหรี่ยง ข่าวว่าผู้นำกะเหรี่ยงมีการเอาผู้หญิงมาค้าประเวณี ข่าวปลอมเหล่านี้นั้นถูกเผยแพร่อย่างตั้งใจทั้งบนเฟซบุ๊กและบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ ทั้งในช่วงก่อนหน้าการรัฐประหาร และหลังจากการรัฐประหาร
โดยจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นพบว่าเฟซบุ๊กของนาย Sit Man Zaw นั้นพบว่ามีประวัติการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดๆและโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่เป็นจริงมาโดยตลอด
ทั้งนี้กระบวนการเผยแพร่ข่าวปลอมที่ผ่านมานั้นมักจะเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างผู้นำรัฐบาลทหารและผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ ข่าวเท็จที่มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่วาจาสร้างความเกลียดชังและจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ด้วยการใช้ภาพถ่ายเก่าๆ วิดีโอและเนื้อหาที่ไม่ตรงกัน เพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสน
เรียบเรียงจาก:https://www.bnionline.net/en/news/false-information-claimed-thai-authorities-issued-warrants-some-karen-leaders-spread-online