WHO สั่งจับตา BA.2.3.20 สธ.เผยไทยพบผู้ติดเชื้อแล้ว 2 ราย ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ-รักษาหายแล้ว ย้ำยังอยู่ในตระกูลโอไมครอน พร้อมเตรียมทำน้ำยาตรวจ BQ.1 หลังพบระบาดในยุโรป-สหรัฐฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่่ 2 พ.ย. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานความคืบหน้าสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 สายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามว่า สถานการณ์โควิดในประเทศไทย ยังอยู่ในตระกูลโอไมครอน และการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังเป็น BA.5 เช่นเดียวกับทั่วโลก แต่ทั่วโลกก็พบว่ามีสายพันธุ์บางตัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น XBB และ BA.4.6 หรือ BQ.1
ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา พบว่ามีแนวโน้ม สายพันธุ์ BQ.1 หรือ BQ.1.1 จะเป็นสายพันธุ์หลักแทน BA.5 แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานเช่นเดียวกันว่าสายพันธุ์ BQ.1 หรือ BQ.1.1 มีความรุนแรงกว่า BA.4 หรือ BA.5 พร้อมยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่พบการกลายพันธุ์เป็นตัวใหม่ เพราะยังเป็นหลายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ที่มีการระบาดก่อนหน้านี้ เช่น เดลต้า อัลฟ่า แกมม่า
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 นั้น มีความสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ดี จากการศึกษาพบกว่า ภูมิคุ้มกันของผู้ที่ฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาก่อน ต่อสู้กับเชื้อได้น้อยลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ประมาณ 2 เท่า และจากกรณีที่พบ BA.2.23.20 ซึ่งมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง และเป็นสายพันธุ์ย่อยที่องค์การอนามัยโลกให้ความสนใจและเฝ้าระวัง พบว่าเป็นลูกหลานของ BA.2
ส่วนการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เดลต้าว่าจะเป็นตัวพายหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยังไม่ใช่การกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่ยังคงเป็นลูกหลานของเดลต้า
นพ.ศุภกิล เปิดเผยถึงการตรวจจำแนกสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการตรวจไปทั้งหมด 143 ตัวอย่าง โดยสิ่งที่น่าสนใจ พบว่า มี BA2.7.5 มี 10 ราย ในบางพื้นที่ ทำให้สัดส่วนเพิ่มขึ้น
ส่วนโอไมครอนอื่นๆ (Other Omicron) เป็นตัวที่เราไม่ได้จับตาดู แต่ต่อไปในอนาคต หากสายพันธุ์ย่อย BQ ทั้งหลายเพิ่มจำนวนเร็วขึ้น ก็จะตรวจมีการตรวจด้วยน้ำยาจำเพาะ
"เราไม่สามารถจำแนกทุกสายพันธุ์ด้วยการตรวจเบื้องต้นได้ เพราะมีค่าใช้ค่าสูง และบางสายพันธุ์อยู่สักพักเดียวแล้วก็หายไป จึงจะตรวจหาสายพันธุ์เฉพาะที่ WHO ให้เฝ้าระวัง" นพ.ศุภกิจ ระบุ
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับตัวอย่างจากต่างประเทศ จะน้อยลงมาก เพราะไม่ได้มีการบังคับตรวจ RT-PCR แล้ว จะเน้นเฉพาะผู้เดินทางจากประเทศต้นทางบางแห่งที่ต้องเฝ้าระวังเท่านั้น จากการตรวจจำแนกสายพันธุ์ในประเทศ พบว่า ไทยพบเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ BA.2.3.20 แล้ว 2 ราย ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศทั้งคู่
นอกจากนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อ BA.2.3.20 ที่เพิ่งเข้ามาใหม่และพบการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ซึ่งมีจำนวน 2 ราย ขณะที่อาการเหมือนโควิดทั่วๆ ไป ส่วนประวัติพบว่าไม่ได้เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งคู่ อาศัยในประเทศ และขณะนี้ทั้งคู่หายดีแล้ว โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ให้ไทยจับตาการกลายพันธุ์ชนิดนี้
ทั้งนี้ในอนาคตทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมีการแยกตรวจสายพันธุ์ BQ แยกออกมาเพิ่มเติมด้วย ขณะที่สายพันธุ์ BA.4.6 ที่น่าจับตา พบในไทยจำนวน 3 รายแล้ว และ XBB.X ที่มาจากประเทศสิงคโปร์ พบแล้ว 5 ราย
นพ.ศุภกิจ กล่าวยืนยันว่า สำหรับการกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติของไวรัส บางตัวอาจไม่มีปัญหาอะไร แต่บางตัวหากมีอำนาจก็จะไปกดตัวเลขเชื้อตัวอื่นต่อไป โดยทั้งหมดยังไม่มีสัญญาณของความรุนแรง และมีแนวโน้มรุนแรงน้อยลง ประกอบกับคนทั้งโลกมีภูมิคุ้มกัน พร้อมขอบคุณประชาชนคนไทยที่ยังสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือ เชื่อว่าจะผ่านพ้นหน้าหนาวนี้ไปด้วยดี โดยทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเพื่อให้ประชาชนสบายใจต่อไป
ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงการกลายพันธุ์โอไมครอนว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสในแต่ละภูมิภาคที่ต่างกัน เพราะมีปัจจัยร่วมหลายอย่าง แต่โดยภาพรวมที่ไทยเฝ้าระวังนั้น ยังไม่พบข้อน่ากังวล โดยสิ่งที่จะพิจารณาคือ อัตราการป่วยหนัก-เสียชีวิต และที่ผ่านมายังไม่มีการเสียชีวิต การเข้ารักษาตัวใน ICU เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ไทยมีระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่ดี เป็นอันดับต้นของอาเซียน