วงเสวนาชี้พบวัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้า 53% มีภาวะซึมเศร้า แนะพ่อแม่สื่อสารและรับฟังลูกอย่างเข้าใจ ย้ำรัฐคงมาตรการแบน ปรามปรามเข้มงวด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 65 ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบในประเทศไทย จัดเสวนาวิชาการ ‘บุหรี่ไฟฟ้า วิกฤตสุขภาวะวัยรุ่นไทย’ โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ประตูที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ คือ บุหรี่ กัญชา และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหากเด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้อง 3 สิ่งนี้อาจนำไปสู่สารเสพติดอื่น ๆ และการใช้ความรุนแรงต่อไป
ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นน่าเป็นห่วง และอาจจะถึงขั้นวิกฤต โดยเฉพาะกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ที่เริ่มเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นภัยร้ายตัวใหม่สำหรับวัยรุ่น หากเราไม่รีบเร่งแก้ไขหรือปล่อยไว้อาจส่งอันตรายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน เช่น สมอง หัวใจ ปอด และมะเร็ง
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ในเด็กและเยาวชนในปัจจุบันของไทยอยู่อยู่ในขั้นวิกฤต ที่ผ่านมาพบว่า เด็ก ป.5 ก็สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นแล้ว แต่ไม่ได้สูบเพียงคนเดียว แต่รวมกลุ่มกันสูบมากกว่า 20 คน โดยจุดมุ่งหมายของการขายบุหรี่ไฟฟ้า คือ เด็กและเยาวชน เนื่องจาก บุหรี่ไฟฟ้ามีการพัฒนาปรับผลิตภัณฑ์ให้เหมือนเครื่องประดับในร่างกาย ทำให้เด็กและเยาวชนหลาย ๆ คนอยากสูบ เพราะรู้สึกเท่ห์ จนกลายเป็นค่านิยมในหมู่วัยรุ่น และตอนนี้ไม่ใช่แค่วิกฤตสุขภาพ และเป็นวิกฤตของประเทศ เราควรพลัดดันเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเป็นวาระของชาติ
ฝากถึงผู้กำหนดนโยบายภาคว่า ‘ต้องไม่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย’ และต้องพลัดดันให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นวาระของชาติ อย่าหวังเก็บภาษีจากสิ่งที่เป็นภัยต่อประชาชน และสังคม รายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเทียบไม่ได้กับสุขภาพของเด็กและเยาวชน ในอนาคตรัฐบาลอาจต้องจัดสรรงบประมาณค่ารักษาโรคจากบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น นายพชรพรรษ์ กล่าว
นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม และผู้จัดการโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่ กล่าวว่าขณะนี้พบการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กระดับประถมศึกษาในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่ครู และผู้ปกครอง ให้รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า และมีเครือข่ายที่มีผู้ปกครองช่วยกัน ออกแบบการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชนว่า ควรเชื่อข้อมูลไหนและไม่ควรเชื่อข้อมูลไหน
"สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง สถานการณ์ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงเด็กและเยาวชนง่ายมากขึ้น ไม่ได้เพียงแต่ซื้อในโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ในตลาดก็สามารถหาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้ รวมถึงในโรงเรียนด้วย อีกทั้งบุหรี่ไฟฟ้าลักษณะภายนอกคล้ายอุปกรณ์เรียนของเด็กและเยาวชน" นางฐาณิชชา กล่าว
ศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือ หมอโอ๋ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน กล่าวว่า หากผู้ปกครองทราบว่าลูกของท่านสูบบุหรี่ไฟฟ้า ควรสื่อสารด้วยการรับฟังลูก และพยายามทำความเข้าใจด้วยเหตุผล ถ้าเราไม่ฟัง เราจะไม่รู้ ดังนั้นอย่าไปตำหนิ หรือดราม่าใส่ลูก และที่สำคัญอย่าให้ลูกรู้สึกแย่ รู้สึกเจ็บปวด ให้สอบถามด้วยความเป็นห่วง เช่น สอบถามว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยอะไร หรือตอบโจทย์อะไรในชีวิตลูก และชวนลูกคิด
"การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น อาจเกิดจาก การต้องการถูกยอมรับทางสังคมในหมู่วัยรุ่น หรือจากโครงสร้างทางสังคม บีบบังคับทำให้เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจจะเป็นทางออกที่ช่วยให้สบายใจและรู้สึกผ่อนคลายขึ้น เช่น ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาที่โรงเรียน หรือปัญหาทำให้พวกเขารู้สึกไม่สบายใจ" ศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าว
และ รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เป้าหมายที่แท้จริงของบุหรี่ไฟฟ้า คือเด็กและเยาวชน เมื่อมองน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า สามารถเห็นได้ชัดเจนว่า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีแต่รสชาติที่ต้องการขายให้แก่เด็กและเยาวชน ปัจจุบันน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าน่าจะมีมากกว่า 16,000 กว่ารสชาติ
ในรายงานการสำรวจสุภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 2562-2563 พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นระหว่าง 10-19 ปี เคยลองสูบ ร้อยละ 5.3 สูบเป็นประจำ ร้อยละ 2.9 และที่สำคัญ ร้อยละ 30 เป็นวันรุ่นหญิงที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำ
"ขณะเดียวกันน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลให้ต่อสุขภาพของวัยรุ่น โดยพัฒนาการในสมองอาจผิดปกติ หรือช้าลง และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจะเสียชีวิตเฉียบพลันได้ และ 53 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีภาวะซึมเศร้า และ 7 ใน 10ของเด็กที่ติดบุหรี่ไม่สามารถเลิกได้" รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบในประเทศไทย อยากฝากถึงรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยงข้องให้ความสำคัญปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น และเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าให้เข็มงวดขึ้น ทุกคนควรช่วยกันการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น ต้องช่วยกันทำให้บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องปกติของสังคม เพื่อช่วยให้เด็กและเยาวชนไทย มีอนาคตที่สดใส และสุขภาพร่างกายแข็งแรง