ร้อง 'อิศรา' สอบจัดประกวดราคาจ้างออกแบบงานพืชสวนโลก อุดรธานี มีขรก.เรียกผลประโยชน์เอกชนสูง 30 เปอร์เซ็นต์ ด้าน 'วิเชียร ขาวขำ' นายกฯ อบจ. แจงกระบวนการขั้นตอนโปร่งใสรัดกุม มีกรรมการ 11 คนจากทุกแขนง ล็อบบี้งานเป็นเรื่องยากมาก ยันคัดเลือก ผู้ชนะต้องให้ได้ดีที่สุด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในจัดประกวดราคาออกแบบงานมหกรรมพืชสวนโลก 2569 ที่ ต.กุดสระ อ.เมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ที่ทางจังหวัดอุดรธานี มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมารับผิดชอบการจัดงาน ระบุว่า เริ่มมีข้าราชการบางกลุ่มเข้าไปติดต่อเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทเอกชนที่สนใจเข้าร่วมการประกวดราคาจ้างจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์จากเงินงบประมาณว่าจ้างงานทั้งหมดเพื่อแลกเปลี่ยนการช่วยเหลือล็อบบี้ให้สามารถเป็นผู้ชนะได้
จากข้อร้องเรียนดังกล่าว ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่หน้าห้องทำงานนายวันชัย ระบุว่า นายวันชัย ติดภารกิจให้ฝากเรื่องไว้ พร้อมยืนยันว่าในกระบวนการจัดซื้อดังกล่าวมีการดำเนินการที่ค่อนข้างจะรัดกุมอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความโปร่งใสที่สุด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานต่อว่า ได้ติดต่อไปสอบถามข้อมูลกับทางนายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี เพื่อให้ชี้แจงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
นายวิเชียร กล่าวว่า ส่วนตัวก็อยากทราบเหมือนกันว่าข้าราชการที่ว่านี้เป็นใคร เพราะต้องถามกันก่อนว่าจะดีลงานกันอย่างไร เนื่องจากว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นจะต้องมีคณะกรรมการจำนวน 11 คนเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก ผู้ที่จะมาออกแบบ
"การจัดซื้อนี้มีรองผู้ว่าราชการจังหวัด (นายวันชัย จันทร์พร) เป็นประธาน มีสถานปนิก วิศวกรจังหวัด เกษตรกรจังหวัด โยธาธิการจังหวัด มีผมเป็นกรรมการร่วมคัดเลือก ก็เลยสงสัยว่าจะไปเรียกยังไง จะไปเอาจากไหน อีกทั้งแต่ละคนก็ให้คะแนน ก็เป็นการให้คะแนนในทางลับ ลงคะแนนลับกันว่าใครจะได้คะแนนเท่าไรกันในแต่ละมิติ แล้วมารวมคะแนนกัน เอาทั้ง 11 มาบอกกันแล้วก็หารเอาค่าเฉลี่ย ซึงเรื่องนี้มีระเบียบพัสดุกำหนดไว้ตายตัวเลย" นายวิเชียรกล่าว
นายวิเชียร ยังระบุด้วยว่า "สมมติว่านาย ก.ไปเรียกรับเงินจากบริษัทเอ เขาคนเดียวจะไปให้คะแนนบริษัทเอให้ชนะได้อย่างไร ดังนั้นตามหลักการก็คือว่าการดีลถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะว่ามีกรรมการหลายคน อีกทั้งแต่ละคนก็เป็นระดับหัวหน้าหน่วยงานทั้งนั้นเลย ถามว่ารองผู้ว่าราชการจังหวัด สภาสถาปนิก สภาวิศวกร เขาจะเอาด้วยหรือ"
นายวิเชียร กล่าวต่อว่าสำหรับบริษัทที่เสนอตัวในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ก็เป็นบริษัทใหญ่ มีความสามารถ อีกทั้งคณะกรรมการชุดนี้ต้องการคนที่มีฝีมือ ออกแบบถูกต้อง ตามคอนเซ็ปป์ของจังหวัด
"ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะกรรมการกำหนดทีโออาร์ (เงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้าง) ขึ้นมา ทีโออาร์นั้น เราก็ให้สภาทุกสภาที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยกันตรวจสอบ เขียนทีโออาร์เสร็จ เราก็ให้ทีโออาร์ที่ว่านี้ไปยัง 37 บริษัทใหญ่ทั่วประเทศไทย การส่งไปบริษัทใหญ่นั้นเราไม่รู้ ก่อนส่งเราก็ไปปรึกษากับสภาวิศวกรกับสถาสถาปนิก สองท่านนี้ก็บอกเลยว่าเรียงลำดับเลยว่าเจ้าใหญ่ๆ มีอะไรบ้าง ซึ่งอันที่จริงแล้วกระบวนการคัดเลือกเราส่งไปแค่ 4-5 บริษัทก็ได้ แต่ว่าตรงนี้เราส่งไปถึง 37 บริษัท"
นายวิเชียร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุจำเป็นเวลาน้อย ทางนายสยาม ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เพิ่งจะย้ายไป จึงได้มีการสั่งการว่าให้มีการคัดเลือกก็ได้ ซึ่งการคัดเลือกนั้นตามระเบียบแล้วเชิญแค่ 4-6 บริษัท ก็ถูกระเบียบแล้ว แต่เราก็ส่งหนังสือเชิญชวนไป 37 บริษัท ซึ่งตรงนี้สามารถมาตรวจสอบกับทางฝ่ายสารบัญจังหวัดได้เลยว่าส่งไปบริษัทอะไรบ้าง
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ในทีโออาร์นั้นยังได้ระบุด้วยว่าบริษัทไหนก็ตามที่ไม่มีผลงาน ก็สามารถจะร่วมทุนกับบริษัทต่างๆเพื่อรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่มาก็ได้ ซึ่งการร่วมทุนนั้นก็สามารถร่วมทุนกับบริษัทที่อยู่ในรายชื่อของ 37 บริษัทดัวยกันเอง หรือว่าจะไปร่วมทุนกับบริษัทอื่นที่อยู่นอกรายชื่อ 37 บริษัทมาก็ได้ เพียงแต่ว่าผู้ที่จะมียื่นแบบจะต้องเป็นบริษัทที่ได้รับการหนังสือทีโออาร์เท่านั้นเอง
"สาระสำคัญก็คือว่า คุณต้องเก่ง ต้องมีผลงาน ถ้าหากไม่มีทุน คุณก็สามารถร่วมทุนกับบริษัทอื่นได้ แต่เวลายื่นแบบ คนที่ถูกเชิญเท่านั้นจะสามารถยื่นแบบได้ คนไม่ถูกเชิญจะมาเป็นตัวหลักยื่นไม่ได้" นายวิเชียรกล่าว
นายก อบจ.อุดรธานีกล่าวต่อไปว่า ตามเงื่อนไขทีโออาร์นั้นมีการระบุว่าบริษัทที่สามารถจะเสนอแบบได้นั้นจะต้องมีผลงานการออกแบบภูมิสถาปัตย์กับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท ซึ่งนี่เป็นไปตามหลักกฎหมายด้วย ทีนี้ถ้าหากบริษัทถ้าหากดูตัวเองว่าไม่มีผลงาน ก็สามารถไปร่วมทุนกับบริษัทอื่นเพื่อไปออกแบบ แล้วส่งมาให้ทางคณะกรรมการดูด้วยเช่นกันว่าคุณสมบัติคุณครบหรือไม่
"สำหรับขั้นตอนการประกวดราคา ณ เวลานี้นั้นยังอยู่ในการหารือกันอยู่ว่าการจะให้เหล่าบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าวนั้นมาเสนอผลงานในวันที่ 29 ต.ค. นั้นมันจะเป็นเรื่องที่กระชั้นชิดเกินไปหรือไม่" นายก อบจ.อุดรธานีกล่าวทิ้งท้าย
นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี (อ้างอิงรูปภาพจากเฟซบุ๊ก)
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2569 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ กำหนดพื้นที่จัดงาน ตั้งอยู่ที่ ต.กุดสระ อ.เมืองอุดรธานี ริมถนนมิตรภาพ สายอุดรธานี-หนองคาย ห่างจากตัวเมืองอุดรฯ ประมาณ 4 ก.ม. เนื้อที่ประมาณ 975 ไร่ เป็นพื้นที่น้ำ 400 ไร่ และพื้นดินประมาณ 575 ไร่เศษ ระยะเวลาจัดงานระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570 (134 วัน) ตั้งวงเงินงบประมาณจัดงานนับพันล้านบาท คาดว่าจะทำให้มีจำนวนผู้เข้าชมงานถึง 3.6 ล้านคน สามารถเพิ่มเงินสะพัดระหว่างการจัดงานประมาณ 3 หมื่นล้านบาท สามารถเพิ่มมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ประมาณ 20,000 ล้านบาท และสร้างการจ้างงานประมาณ 81,000 อัตรา
สำหรับวัตถุประสงค์ที่ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานในปี 2569 นี้ คือ 1.เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนของไทยและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านพืชสวนในระดับชาติและระดับนานาชาติ 2.ลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผ่านการจัดงาน 3.ส่งเสริมการพัฒนาและต่อยอดการเกษตรด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีและการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และ 4.สร้างจังหวัดอุดรธานีให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านการเกษตรของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง GMS เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตและการต่อยอดสู่ BCG Model (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy)
เมื่อเสร็จการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 (2026) แล้ว ขณะที่ ทางจังหวัดอุดรธานีมีแผนจะอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าว เพื่อใช้ประโยชน์ต่อเนื่องเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ ประเพณีวัฒนธรรม และศูนย์กลางกีฬานานาชาติ ของกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขงและภาคตะวันออกเฉียงตอนบนต่อไป