ศูนย์จีโนมฯ เผย WHO แจ้งข่าวดี อัปเดตสถานการณ์โควิดโอไมครอน XBB - BQ.1 แพร่ระบาดต่ำ เมื่อเทียบกับ BA.5 ไม่พบป่วยหนัก-เสียชีวิตเพิ่ม แต่ยังจับตาอย่างใกล้ชิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า ข่าวดี! องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงอัปเดตสถานการณ์การระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย XBB และ BQ.1
WHO โดยหัวหน้าฝ่ายเทคนิคของภารกิจโควิด-19 “ดร.มาเรีย ฟาน เคอร์คอฟ” ได้แถลงอัปเดตสถานการณ์การระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย XBB และ BQ.1 เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมาดังนี้
-
WHO และภาคีทั่วโลกได้เฝ้าติดตามโอไมครอนกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อยมากกว่า 300 สายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างใกล้ชิด พบว่ากว่าร้อยละ 80 ของตัวอย่างส่งมาถอดรหัสพันธุกรรมที่ห้องปฏิบัติการทั่วโลกยังคงเป็นโอไมครอนสายพันธุ์ BA.5
-
จากการถอดรหัสพันธุกรรมโอไมครอนทั่วโลก WHO และเครือข่ายพบโอไมครอนสองสายพันธุ์ย่อย “XBB” และ “BQ.1” มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าโอไมครอนทุกสายพันธุ์ในปัจจุบัน โดยไวรัสสองสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวยังคงมีการแพร่ระบาดในระดับต่ำ (low level of circulation) กล่าวคือเพิ่มจำนวนอย่างช้าๆเมื่อเทียบกับโอไมครอน BA.5
-
โอไมครอน XBB เป็นสายพันธุ์ลูกผสม (recombinant) ระหว่าง BA.2.10.1 และ BA.2.75 ในขณะที่โอไมครอน BQ.1 เป็นเหลนของ BA.5
-
เป็นที่น่ายินดีที่ทั่วโลกยังไม่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอน XBB หรือ BQ.1 ที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหรือแตกต่างไปจากโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม เช่น BA.1,BA.2,BA.4 และ BA.5 อย่างมีนัยสำคัญ
-
แต่ WHO และเครือข่ายทั่วโลกมิได้ประมาทยังคงเฝ้าติดตามการแพร่ระบาดของโอไมครอนทุกสายพันธุ์ย่อยอย่างใกล้ชิดต่อไป
-
โดยขอเน้นย้ำว่าการตรวจวินิจฉัยด้วย ATK, PCR, และการถอดรหัสพันธุกรรมยังคงดำเนินการเป็นปรกติและ
-
วัคซีนยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิมในการป้องกันการติดเชื้อที่เจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
ด้าน ดร. อเล็กซ์ เซลบี้(Alex Selby) นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษได้คำนวณอัตราการเพิ่มจำนวนของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยต่างๆและจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวใน รพ. และเสียชีวิตเนื่องจากโควิด-19 ในอังกฤษ
โดยคาดการ (จากการคำนวณ) ว่าจากนี้จนถึงปลายปี 2565 “ไม่น่าจะมีการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ (ในอังกฤษ)” จากโอไมครอน เพราะในขณะนี้ดูเหมือนสายพันธุ์ย่อยที่ก้าวร้าวที่สุด (BQ.1.1, XBB.1 ...) มีการเพิ่มจำนวนอย่างช้าๆ ในขณะที่โอไมครอน BA.5 ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง
เตรียมผลิตวัคซีนรวม สู้โควิด-ไข้หวัดใหญ่-RSV
ทั้งนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ได้โพสต์ข้อความระบุถึงการติดตามพัฒนาของเชื้อไวรัส เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า น่ากังวลหรือไม่กับ “ไวรัสไฮบริด” อันเกิดจากการหลอมรวมระหว่างอนุภาคไวรัสที่พบติดต่อในระบบทางเดินหายใจสองประเภทคือ “ไวรัสอาร์เอสวี” และ “ไวรัสไข้หวัดใหญ่” เข้าด้วยกันโดยพบว่าไวรัสลูกผสมดังกล่าวสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดี
แต่ด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ด้านวัคซีนที่ก้าวหน้าไปมาก วัคซีนชนิด mRNA ที่เป็นวัคซีนรวม (combined vaccine) ระหว่างไวรัสโคโรนา 2019-ไวรัสไข้หวัดใหญ่-ไวรัส RSV อาจเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
ไวรัสอาร์เอสวี (RSV: Respiratory Syncytial Virus) เป็นไวรัสที่มีเปลือก (ดัดแปลงมาจากผิวเซลล์มนุษย์) ห่อหุ้มอนุภาคไวรัส จีโนมเป็นอาร์เอ็นเอสายลบ (เมื่อเข้าเซลลืแล้วต้องเปลี่ยนอาร์เอ็นเอสายบวกก่อนเพื่อสร้างโปรตีนสำคัญของไวรัส) เส้นเดี่ยวจัดอยู่ในตระกูล Paramyxoviridae
ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นไวรัสที่มีเปลือก (ดัดแปลงมาจากผิวเซลล์มนุษย์) ห่อหุ้มอนุภาคไวรัส จีโนมเป็นอาร์เอ็นเอสายลบ แบ่งเป็นท่อนเล็ก 8-9 ท่อน จัดอยู่ในตระกูล Orthomyxoviridae
เร็วๆนี้ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการไวรัสของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ในประเทศอังกฤษได้ทดลองนำไวรัสสองประเภทคือ ไวรัสอาร์เอสวี และไวรัสไข้หวัดใหญ่ เข้ามาเลี้ยงรวมกันกับเซลล์ปอดที่เพาะเลี้ยงในหลอดทดลองเดียวกัน ปรากฏว่าแทนที่ไวรัสทั้งสองประเภทจะแย่งชิงแทรกตัวเข้าสู่เซลล์ปิดโอกาสไวรัสอีกประเภทที่จะตามเข้ามาไนเซลล์ ดังเช่นในกรณีของไวรัสโคโรนา 2019 แต่กลับพบว่าผนังหุ้มอนุภาคของไวรัสอาร์เอสวีและไวรัสไข้หวัดใหญ่ (ซึ่งดัดแปลงมาจากผิวเซลล์มนุษย์)มีการหลอมรวมกันโดยมีจีโนมแยกจากกัน กลายเป็นไวรัสลูกผสมแปลกประหลาดชนิดใหม่ มีรูปร่างคล้ายต้นปาล์ม – โดยไวรัสอาร์เอสวีดูเสมือนเป็นลำต้น ส่วนใบมาจากไวรัสไข้หวัดใหญ่
โดยรูปสัณฐานเดิมของอนุภาคไวรัสอาร์เอสวี เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนกำลังขยายสูงจะพบว่ามีหลากหลายรูปแบบ เช่น ทรงกลม ทรงเรียวยาว และทรงไม่สมมาตร ในขณะที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีสัณฐานเป็นทรงกลมหรือทรงรี
จากการทดสอบในหลอดทดลองพบว่าไวรัสลูกผสมระหว่างไวรัสอาร์เอสวีและไวรัสไข้หวัดใหญ่ เข้าถึงเซลล์เป้าหมายได้หลากหลายขึ้น เพราะเดิมไวรัสไข้หวัดใหญ่จะแพร่ติดต่อในเซลล์ของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่นเซลล์จมูก ลำคอ และหลอดลม ในขณะที่ ไวรัสอาร์เอสวีจะเข้ารุกรานระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เซลล์หลอดลมและปอด อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดบวมในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิตหลายพันคนในแต่ละปี ไวรัสลูกผสมที่เกิดขึ้นในหลอดทดลองหากสามารถมาระบาดในคนได้ทางทีมวิจัยคาดว่าน่าจะสามารถติดเชื้อได้ทั้ง จมูก ลำคอ หลอดลม และ ปอด ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสลูกผสมอาจมีการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงมากกว่าที่ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่เพียงประเภทเดียว
ไวรัสลูกผสมสามารถแพร่เชื้อไปยังเซลล์ข้างเคียงได้แม้ในบริเวณนั้นมีแอนติบอดีต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งปรกติจะสามารถขัดขวางการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่เซลล์ได้ ภายใต้กล้องจุลทรรศน์นักวิจัยสังเกตเห็นแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่หยอดเข้าไปสามารถเข้าจับติดกับเปลือกนอกของไวรัสลูกผสมบริเวณที่เป็นส่วนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ไวรัสลูกผสมยังสามารถใช้โปรตีนเปลือกนอกในส่วนของไวรัส RSV ที่อยู่ใกล้เคียงกันในการเกาะกับผิวเซลล์ปอดและแทรกตัวเข้าสู่เซลล์ได้อยู่ดี
แสดงให้เห็นว่าอนุภาคไวรัสไฮบริดได้อาศัยส่วนเปลือกของไวรัสอาร์เอสวี ที่ไม่มีแอนติบอดีมาบล็อกเป็นเสมือน "ม้าโทรจัน" นำไวรัสไข้หวัดใหญ่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเข้าสู่เซลล์
แต่อย่าเพิ่งด่วนกังวล เพราะเราพบไวรัสลูกผสมเพียงในห้องปฏิบัติของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์เท่านั้น ยังไม่มีรายงานว่าตรวจพบไวรัสลูกผสมลักษณะนี้ก่อโรคในมนุษย์
นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่กำลังเร่งผลิตวัคซีนชนิด mRNA ที่เป็นวัคซีนรวม (combined vaccine) ระหว่างไวรัสโคโรนา 2019-ไวรัสไข้หวัดใหญ่-ไวรัสอาร์เอสวี ในการฉีดเพียงเข็มเดียวให้กับเด็กเล็กและผู้สูงอายุเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากไวรัส โดยจะเริ่มทำการวิจัย(ในคน)ระยะที่หนึ่ง (Clinical Trial phase I) ปลายปี 2565 นี้ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นในสัตว์ทดลองพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิกันต่อไวรัสทั้งสามประเภทได้สูงเป็นที่น่าพอใจไปพร้อมกัน อันคาดว่าน่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสลูกผสมระหว่างไวรัสโคโรนา 2019-ไวรัสไข้หวัดใหญ่-ไวรัส RSV ได้ด้วย
ดังนั้นการระบาดของเชื้อไวรัสลูกผสมระหว่าง "ไวรัสอาร์เอสวี” กับ “ไวรัสไข้หวัดใหญ่”หรือ "ไวรัสโคโรนา 2019" กับ “ไวรัสไข้หวัดใหญ่”หากเกิดขึ้นในอนาคตอาจจะยากที่จะติดต่อในเด็กหรือผู้สูงอายุที่ได้รับการฉีดวัคซีนรวม (combined vaccine) ระหว่างไวรัสโคโรนา 2019-ไวรัสไข้หวัดใหญ่-ไวรัสอาร์เอสวี