สธ.ยันไทยพบโควิด BQ.1 จริง เป็นรายงานเดิมตั้งแต่ ก.ย. แต่ GISAID ปรับข้อมูลใหม่ ย้ำยังอยู่ในตระกูลโอไมครอน ด้านศูนย์จีโนมฯ คาดแทนที่ BA.5 สิ้นปีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณี ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีแจ้งข้อมูลพบโควิด-19 โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BQ.1 ในประเทศไทยจำนวน 1 ราย ว่า กรณีที่พบโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 เป็นชายต่างชาติอายุ 40 ปี เดินทางมาจากประเทศจีน รักษาที่โรงพยาบาลใน กทม. ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. 2565 รักษาหายเป็นปกติแล้ว โดยทางโรงพยาบาลส่งตัวอย่างมาทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตามระบบเฝ้าระวังที่ได้วางระบบไว้ และได้ตรวจสายพันธุ์ ส่งข้อมูลเผยแพร่บนฐานข้อมูล GISAID ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 2565 ณ ขณะนั้นจัดเป็น BE.1.1 มาจาก BA.5.3.1.1.1 จึงทำให้รวบตัวเลขเหลือ BE.1.1
กระทั่ง เมื่อมีข้อมูลพบการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง N460K จำนวนมากขึ้น จึงกำหนดเป็นสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และเปลี่ยนข้อมูลจากBE.1.1 เป็นBQ.1 เมื่อมีวันที่ 18 ต.ค.2565
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสเกิดขึ้นเรื่อยๆ BQ.1 เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนหลายตัว ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกให้จับตาดู ว่า โตเร็วและอำนาจแพร่กระจายมากขึ้นแค่ไหน
สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่โตเร็วสุด แพร่กระจายได้เร็วสุดหรือหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดตอนนี้ คือ XBB รองลงมา คือ BQ.1.1 จึงเป็นตัวที่ต้องให้น้ำหนักในการจับตามากสุด ซึ่งเป็นลูกหลานของ BQ.1 และ BQ.1.1 ยังไม่เจอในประเทศไทย โดยขณะนี้ประเทศไทยเรามี XBB , BF.7 , BN.1 และ BQ.1
แต่ทั้งหมดยังเป็น โควิด-19 โอไมครอน และยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ความรุนแรงมากขึ้น แต่อาจจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นได้
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับเส้นทางกลายพันธุ์ของ BQ.1 มาจากโควิด-19 โอไมครอน BA.5 มาเป็น BA.5.3 มาเป็น BE.1.1 มาเป็น BQ.1 และต่อไปเป็น BQ.1.1 ซึ่งเป็นตัวที่แพร่กระจายได้เร็วเป็นอันดับ 2 อยู่ตอนนี้ แต่ยังไม่เจอในไทย ส่วนสายพันธุ์ XBB ที่อำนาจแพร่กระจายได้เร็วสุดอยู่ตอนนี้นั้น กลายพันธุ์มาจาก โอไมครอน BA.2 มาเป็น BA.2.10 มาเป็น BJ.1 และเป็น XBB
"มาตรการส่วนบุคคลที่ใช้ในการป้องกันตนเอง ทั้งการใส่หน้ากากและล้างมือบ่อยๆยังสามารถช่วยป้องกันได้ ขอให้คนไทยอย่าเพิ่งหย่อนมาตรการ เมื่อรวมกับการฉีดวัคซีนได้มาก น่าจะช่วยให้ป้องกันการระบาดในไทย ส่วนที่สิงคโปร์เจอการระบาดเพราะมีการเลิกมาตรการป้องกันต่างๆ ทั้งหมดขึ้นกับสถานการณ์ ส่วนโรคจะอยู่นานแค่ไหนนั้น การกลายพันธุ์จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่วันนี้เชื้อที่เกิดขึ้นเป็นตระกูลโอไมครอน แต่ยังไม่มีหลักฐานความรุนแรง อาจไม่มีอาการด้วยซ้ำไป และเท่าที่ทราบยังไม่มีคนเสียชีวิต" นพ.ศุภกิจกล่าว
ส่วนกรณีสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่สุด XBB ต้องนำตัวอย่างเชื้อที่ไทยพบมาเพาะว่าหลบภูมิฯ มากน้อยแค่ไหน นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ตัวอย่างนี้เจอช่วงสิงหาคม ซึ่งอาจนานไป เชื้ออาจตายไปแล้ว แต่หากเพาะได้เราก็จะทำ ซึ่งเราก็จะตรวจจับและเฝ้าระวัง พร้อมทั้งทำเหมือนตัวอื่นๆ ในการเพาะเชื้อและดูภูมิคุ้มกันต่อไป
นอกจากนี้ เรายังขอความร่วมมือรพ.ขนาดใหญ่ รพ.เอกชนในการส่งตัวอย่างเชื้อโควิด เพื่อให้เราตรวจหาสายพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้รับความร่วมมือดี อย่างเจอ XBB ก็พบว่าส่วนใหญ่จากต่างชาติ มีคนไทยก็มาจากสิงคโปร์
ศูนย์จีโนมฯ ห่วง BQ.1 แพร่เร็ว คาดแทนที่ BA.5 สิ้นปีนี้
ทั้งนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า จากการสืบค้นฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิดโลก 'GISAID' พบโอไมครอน BQ.1 ในประเทศไทยแล้ว 1 ราย
โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย 'BQ.1 และ BQ.1.1', 'วัคซีนเข็มกระตุ้นเจเนอเรชัน2 เพื่อป้องกัน', และ 'ยาแอนติบอดีสำเร็จรูปเจเนอเรชันสอง' เพื่อการรักษา
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ได้ออกมาเตือนถึงการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย 'BQ.1' และ BQ.1.1 ซึ่งเป็นรุ่นหลานของโอไมครอน BA.5
จากการสืบค้นฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิดโลก 'GISAID' พบโอไมครอน BQ.1 ในประเทศไทยแล้วหนึ่งราย
นพ.แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาวของสหรัฐกล่าวถึงสาเหตุที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกังวลใจเกี่ยวกับบรรดาโอไมครอนสายพันธุ์ใหม่ เช่น BQ.1 และ BQ.1.1 เนื่องจาก 2 เหตุผลสำคัญ (ภาพ1) คือ
1. โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ BQ.1.1 มีการเพิ่มจำนวนเป็นเท่าตัว (doubling time) ภายในอาทิตย์เดียวติดต่อกันมาหลายสัปดาห์ซึ่งถือว่าสูงมาก (ภาพ2) และ
2. โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และ BQ.1.1 ดื้อต่อยาแอนติบอดีสำเร็จรูปตัวสำคัญที่เรามีใช้อยู่ เช่น เอวูเชลด์ (Evusheld) และ เบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab) ที่ใช้รักษาโควิด-19 (ภาพ3)
ปัจจุบันโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ เช่น BQ.1 มีความสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามธรรมชาติหรือภูมิที่ได้จากการฉีดวัคซีนได้ดี โดยผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน และมีการติดเชื้อโอไมครอน BA.5 จะมีภูมิต้านทานการติดเชื้อโอไมครอน BQ.1 ได้ดีกว่าเล็กน้อย (เนื่องจาก BQ.1 กลายพันธุ์มาจาก BA.5) เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและมีการติดเชื้อโอไมครอน BA.2, ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและมีการติดเชื้อโอไมครอน BA.1, และผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแต่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาก่อนตามลำดับ
ดังนั้นการใช้วัคซีนเจเนอเรชัน 2 (adaptive vaccine) ที่ใช้ส่วนหนามกับ BA.5 เป็นตัวกระตุ้นน่าจะยังสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ BQ.1 และ ฺBQ.1.1 ในร่างกายของผู้ติดเชื้อได้เนื่องจาก BQ.1 และ ฺBQ.1.1 กลายพันธุ์มาจาก BA.5 จึงมีส่วนหนามคล้ายกัน
นอกจากนี้ โอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ยังดื้อต่อยา'แอนติบอดีสำเร็จรูป'เจเนอเรชันแรกเป็นส่วนใหญ่ (ภาพ3) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยา'แอนติบอดี ค็อกเทล'เจเนอเรชันสอง สำหรับรักษาผู้ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่
'แอนติบอดี ค็อกเทล'เจนเนอเรชั่นสอง เช่น 'SA55+SA58' สามารถเข้าจับและทำลายโอไมครอนได้ทุกสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1/BA.2, BA.4/BA.5 จนมาถึงสายพันธุ์ย่อยล่าสุด BQ.1, BQ.1.1, XBB
โอไมครอน BQ.1 มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามที่สำคัญคือ K444T, L452R, N460K, และ F486V ซึ่งทำให้หลบภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือได้จากการฉีดวัคซีนได้ดี ในสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อ BQ.1 ร้อยละ 5.7 ของโอไมครอนสายพันธุ์ต่างๆที่ระบาดอยู่ในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด และหากคิดรวม BQ.1.1 (กลายพันธุ์เพิ่มจาก BQ.1 อีกหนึ่งตำแหน่ง คือ R346T) จะมีผู้ติดเชื้อ BQ.1 และ BQ.1.1 รวมกันถึงร้อยละ 11.4 ซึ่งคาดว่าสายพันธุ์ย่อยทั้งสองจะมาแทนที่ BA.4.6 ซึ่งระบาดในหมู่ประชาชนชาวอเมริกันคิดเป็นร้อยละ 12.2 แต่ขณะนี้ BA.4.6 มีปริมาณการเพิ่มจำนวนที่คงตัว ในขณะที่โอไมครอน BA.5 ในสหรัฐอเมริกาลดจำนวนลงเป็นลำดับ ขณะนี้เหลือเพียงร้อยละ 67.9
BQ.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดเหนือกว่า BA.5.2 เกือบ 15% ต่อวัน ในขณะที่ BQ.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดเหนือกว่า BA.2 ประมาณ 14% ต่อวัน บ่งชี้ว่า BQ.1 น่าจะเจริญเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วกว่า ส่งผลให้แพร่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว และน่าจะเข้ามาแทนที่ BA.5 ได้ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2566
แม้โอไมครอน BQ.1 และ BQ.1.1 จะมีการกลายพันธุ์หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีและแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า โอไมครอน BQ.1 และ BQ.1.1 ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงและมีจำนวนผู้เสียชีวิตแตกต่างไปจากโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
การรักษาอาจต้องใช้ยา'แอนติบอดี ค็อกเทล'เจเนอเรชันสอง ที่เข้าจับหนามของอนุภาคไวรัสบริเวณที่ไม่มีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลง สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ติดเชื้อโอไมครอนทุกสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1/BA.2, BA.4/BA.5 จนมาถึงสายพันธุ์ย่อยล่าสุด BA.2.75.2, BQ.1, BQ.1.1, และ XBB