รัฐบาล-พรรคการเมือง ร่วมรำลึกเหตุการณ์ 49 ปี 14 ตุลา 16 ‘อนุชา-พี่เอ้’ ร่วมเชิดชูวีรชน รำลึกวีรกรรม ก่อนตั้งคำถามการใช้สิทธิเสรีภาพต้องมีประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ ด้านฝ่ายค้าน ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล-ก้าวหน้า’ อัด 49 ปีผ่านไป ยังไม่มีประชาธิปไตย สรุปบทเรียนไล่เผด็จการไม่พอ ชูรื้อโครงสร้างประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (แยกคอกวัว) ถ.ราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ มีการจัดพิธีวางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงวีรชน 14 ตุลา ประจำปี 2565 โดยมีผู้แทนจากองค์กรทางการเมือง อาทิ สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์กรภาคประชาชนและญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลา เข้าร่วม
@อนุชา นาคาสัย: สิทธิเสรีภาพต้องเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา
นายอนุชา นาคาสัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและประธานในพิธี กล่าวว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนคนไทยที่รักและหวงแหนประชาธิปไตย ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการนำพาประเทศของเราให้พัฒนาเพื่อสันติสุข ซึ่งประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์อันสำคัญ เป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ
การครบรอบ 49 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา ถือเป็นโอกาสที่เราทั้งหลายจะได้ระลึกเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ว่าทำอย่างไรเราจะใช้สิทธิ เสรีภาพที่เป็นอยู่ขณะนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและประเทศชาติให้ยั่งยืน เพื่อร่วมขับเคลื่อนภารกิจสำคัญที่คนรุ่นเราหรือรุ่นต่อไปต้องช่วยกันผลักดัน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนร่วม มีบทบาทในการร่วมคิดร่วมสร้าง ตัดสินใจกำหนดนโยบายเพื่อความเจริญก้าวหน้า และเพื่อประโยชน์สุขของสังคม
"ขอรำลึกถึงวีรกรรมในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และขอสืบสานเจตนาอันแน่วแน่ ในการส่งเสริมประชาธิปไตยอันแท้จริงไปสู่ประโยชน์สุขของประชาชนทุกคน" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
อนุชา นาคาสัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
@สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์: ขอบคุณ “สหายศรัทธา”
ด้านนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กรุงเทพมหานคร(กทม.) พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘เอ้ สุชัชวีร์’ ว่า ตื่นเช้าเข้าร่วมงานรำลึกวีรชน 14 ตุลา เจอนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มของผู้ใหญ่ร่างเล็ก อารมณ์ดี แต่คือหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์เต็มตัว เป็นคน 14 ตุลา 2516 เรียกร้องประชาธิปไตย ที่ต้องใช้ชีวิตวัยสาวเข้าป่าภูพาน จังหวัดสกลนคร อยู่หลายปี
จากผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตย อดีตอาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องหนีเข้าป่า ด้วยนาม "สหายศรัทธา" ชีวิตน่าเรียนรู้ยิ่ง ไม่น่าเชื่อวันนี้ นางรัชฎาภรณ์คือ ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และกรรมธิการพิจารณาพรบ.สมรสเท่าเทียม และพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นตัวแม่สนับสนุนความเท่าเทียมในระบบประชาธิปไตยของเกษตรกรและกลุ่ม LGBTQ+
“ป้าปุ๊ (นางรัชฎาภรณ์) พาผมและอาจารย์พีท พลีธรรม ตริยะเกษม ลูกชายหนึ่งในผู้นำนักศึกษา 14 ตุลา เคยโตในป่า เยี่ยมและให้กำลังใจวีรชนและลูกหลาน ผู้ยังมีชีวิตอยู่ หลายท่านเล่าให้ฟัง เรื่องที่ตัวเองประสบหรือไม่เรื่องของพ่อแม่ผู้สูญเสีย สุดมากแต่ละเรื่องที่ได้ฟัง ทุกท่านอายุมากแล้ว หลายท่านมีชีวิตอย่างลำบาก ต้องการการดูแลเยียวยา ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ผมขอขอบพระคุณ "สหายศรัทธา" วีรชนและญาติพี่น้อง ที่พาผมย้อนเวลาสู่ประวัติศาสตร์ 50 ปีที่ยังคงมีชีวิต มีรอยแผล ผมอยากให้ท่านลองคิด ลองอ่าน ลองตรองดู เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ด้วยหลักวิชาการ เพื่ออยู่อย่างไม่ประมาทในปัจจุบัน และพร้อมพัฒนาสังคมไทยให้ดีขึ้นในอนาคต” นายสุชัชวีร์ระบุ
ภาพจาก Facebook: เอ้ สุชัชวีร์
@พรรคเพื่อไทย: สืบทอดอุดมการณ์ ‘ประชาธิปไตย’
ด้านพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ร่วมวางพวงหรีดร่วมรำลึกถึงวีรชนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขอคารวะและรำลึกถึงวีรชน 14 ตุลา ทุกคนด้วยจิตศรัทธา การต่อสู้ของวีรชนผู้กล้า ทั้งที่เปิดผู้วายชนม์และผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้วันนี้ผ่านมา 49 ปีจากเหตุการณ์ดังกล่าว การเมืองในประเทศไทยจะมีกลไกประชาธิปไตยที่ไม่แท้จริง เป็นประชาธิปไตยที่เป็นเพียงรูปแบบ แต่จากประสบการณ์ของวีรชนผู้กล้าหาญในวันนั้น ได้ก่อรูปร่างสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ฝังแน่นในหัวใจประชาชน ส่งต่อสืบทอดมาถึงคนรุ่นนี้
ด้านนางสาวลิณธิภรณ์ กล่าวว่า ขอระลึกถึงและสดุดีทุกดวงวิญญาณของวีรชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา แม้ผ่านมาเกือบ 50 ปี แต่การเมืองไทยวนลูปเดิมคือ ‘ยึดอำนาจ-ร่างรัฐธรรมนูญ-ผู้นำทหารตั้งพรรค-มีการเลือกตั้ง’ มาถึงจุดนี้ สังคมไทยได้เรียนรู้มากมายจากคณะ “3 ป.” เรียนรู้ว่าผู้มีอำนาจหวงแหนอำนาจ ได้เรียนรู้ว่าผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีส่วนสนับสนุนมาจาก ส.ว.250 คน ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ทั้งนี้จากหลายเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมือง บทเรียนต้องไม่กลายเป็นบทลืม ทุกคนเรียนรู้ร่วมกันได้และต้องก้าวเดินไปด้วยกัน
ภาพจาก Facebook: หมอชลน่านFcไม่มีดราม่า
@พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า: 14 ตุลา พ่ายแพ้ ต้องเปลี่ยนแปลงลงถึงระดับโครงสร้าง
ขณะที่พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนางสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เป็นตัวแทนร่วมรำลึกเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ของประเทศไทย วัน 14 ตุลา มหาวิปโยค
นางอมรัตน์ กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยเริ่มต้นด้วยการคารวะผู้เสียสละในเหตุการณ์ 14 ตุลา ก่อนจะกล่าวถึงใจความสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าเป็นทั้ง 'ชัยชนะ' และ 'ความพ่ายแพ้' โดยที่กล่าวเช่นนั้นเพราะว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา สามารถขับไล่เผด็จการที่ครองอำนาจไว้ได้ แต่ขณะเดียวกันภายในเวลา 3 ปีเท่านั้นเผด็จการกลับมาของอำนาจและกลับมามีบทบาทในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งครั้งของความรุนแรงที่ก่อโดยรัฐ ที่ปัจจุบันยังไม่มีผู้กระทำผิดได้รับโทษ
นอกจากนั้น ยังได้ไล่เรียงถึงเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 2516 6 ตุลา 2519 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553 ซึ่งทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่สามารถขับไล่เผด็จการและมีชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ เป็นเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองความคิดของประชาชนทั้งหมดได้ ดังนั้น การขับไล่เผด็จการยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศแต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างและในระดับรัฐบาล
"เราต้องเปลี่ยนที่โครงสร้างของประเทศ เอากองทัพออกไปจากการเมืองยุติการเข้ามาของอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ หรือ มือที่มองไม่เห็นหยุดการแทรกแซงทางการเมืองจากองคาพยพที่ไม่เกี่ยวข้อง" นางอมรัตน์กล่าว
นางอมรัตน์ กล่าวอีกว่า เป็นเวลากว่า 90 ปีแล้วที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแต่ประเทศไทยยังไม่ "ตรงปก" ประเทศรัฐธรรมนูญเสียที ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำ
ขณะที่นางสาวพรรณิการ์ ตัวแทนจากคณะก้าวหน้า กล่าวว่าไม่ควรมีใครต้องต่อสู้เรียกร้อง และล้มตายเพื่อประชาธิปไตย และเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้ เพราะเป็นการตื่นตัวของนิสิตนักศึกษา มวลชน กรรมกร ชาวนา ครั้งใหญ่ ทั่วประเทศลุกฮือกัน ไม่ใช่เพียงเฉพาะกรุงเทพมหานคร แต่ชัยชนะในครั้งนั้นกลายเป็นความพ่ายแพ้เพราะมันไม่ใช่ชัยชนะที่ยั่งยืน บทเรียนจาก 14 ตุลา สอนให้รู้ว่า ไล่เผด็จการออกไป เผด็จการคนใหม่ก็เกิดขึ้นเสมอ ตราบใดที่เราไม่เปลี่ยนโครงสร้างของประเทศให้รับใข้ประชาชนอย่างแท้จริง และปฏิรูปทุกสถาบันให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ