ศูนย์จีโนมฯ เผยสิงคโปร์ยืนยันไม่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนพันธุ์ย่อย XBB ป่วยหนักต้องเข้ารักษาใน รพ.-เสียชีวิตเพิ่ม คาดเพราะ ปชช.ฉีดวัคซีนแล้ว 92% ด้าน สธ.ชี้ไทยยังไม่มีสัญญานน่ากังวล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ชี้แจงเรื่องโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย 'XBB' ว่า
ปัจจุบัน จากการเฝ้าระวังการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ในชุมชนท้องถิ่นของกระทรวงสาธารณสุข (สิงคโปร์) พบว่ามีผู้ติดเชื้อประมาณ 21% เป็นโอไมครอนสายพันธุ์ BA.5, 24% เป็น BA.2.75 และ 55% เป็น BA.2.10 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอน BA.2.10 หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า 'XBB' เพิ่มจำนวนขึ้น 22% จากสัปดาห์ก่อน
ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอไมครอน 'XBB' พบในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย บังกลาเทศ เดนมาร์ก อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022
จากข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่ (ของสิงคโปร์) ผู้ติดเชื้อโอไมครอน 'XBB' ไม่มีอาการความรุนแรงแตกต่างไปจากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆแต่ประการใด
ข้อมูลจากสาธารณสุขสิงคโปร์ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 88,030 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรงถึงร้อยละ 99.8, กลุ่มที่ต้องให้ออกซิเจนร้อยละ 0.2 ผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวใน ICU ร้อยละ 0.03 และเสียชีวิตเพียงร้อยละ 0.02 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่มิได้รับวัคซีน หรือรับไม่ครบโดส หรือไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น
แม้จะมีโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย XBB แพร่เพิ่มจำนวนในสิงคโปร์ แต่จากข้อมูลในแต่ละท้องถิ่นของสิงคโปร์ 'ขณะนี้ยังไม่พบ' ผู้เจ็บป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. และ เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ปัจจัยหลักน่าจะมาจากประเทศสิงคโปร์มีจำนวนผู้รับวัคซีนครบโดสถึงร้อยละ 92 และได้รับเข็มกระตุ้นถึงร้อยละ 79
ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ได้ติดต่อไปยังศูนย์จีโนมสิงคโปร์ได้รับการยืนยันเช่นกันว่า ขณะนี้ยังไม่พบผู้เจ็บป่วยติดเชื้อโอไมครอน XBB ที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่ไม่ประมาทยังเฝ้าติดตามการกลายพันธุ์ของโอไมครอนสายพันธุ์ต่างๆอย่างใกล้ชิดต่อไป
อนึ่งก่อนหน้านี้ ศูนย์จีโนมฯ ได้โพสต์ข้อความ ถึงโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนลูกผสม XBB ที่แพร่ติดต่อในประเทศสิงคโปร์น่ากังวลหรือไม่? เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2565 ว่า
โอไมครอน XBB สายพันธุ์ลูกผสมระหว่างโอไมครอน BJ.1 และ BA.2.75 ซึ่งมีต้นตระกูลร่วมกันคือ BA.2 (ภาพ1) ผลจากห้องปฏิบัติการพบหลบเลี่ยงภูมิคุ้มได้ดีที่สุด ดื้อต่อยาประเภท แอนติบอดีสังเคราะห์(สำเร็จรูป) ทุกชนิด (ภาพ2) พบมีการแพร่ระบาดมากที่สุดในประเทศบังกลาเทศ สิงคโปร์ และ อินเดีย (ภาพ3) ยังไม่พบในประเทศไทย เป็นหนึ่งในกลุ่มโอไมครอนกลายพันธุ์ เพนตากอน* (ภาพ4)
ศูนย์จีโนมสิงคโปร์ได้ถอดรหัสพันธุกรรมของ XBB ไปแล้ว 138 รายในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา และในรอบ 2 สัปดาห์ล่าสุดพบ 54 ราย โดยข้อมูลรหัสพันธุกรรมแต่ละรายได้มีการแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก GISAID (ภาพที่5)
ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่าโอไมครอน XBB สามารถเลี่ยงภูมิคุ้มทั้งจากการติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีนได้ดี รวมทั้งดื้อต่อยาแอนติบอดีสำเร็จรูปทุกตัวที่ทาง อย. ของหลายประเทศอนุมัติให้ใช้ (ภาพ2)
สำหรับอาการทางคลินิก สาธารณสุขของสิงคโปร์ได้รายงานว่าในรอบหนึ่งเดือนมีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ต้องให้ออกซิเจน และเสียชีวิตเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือแตกต่างไปจากการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิม BA.1/BA.2 อย่างมีนัยสำคัญ (ภาพ6)
จากข้อมูลจากสาธารณสุขสิงคโปร์ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 88,030 ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรงร้อยละ 99.8% ต้องให้ออกซิเจนร้อยละ 0.2% ผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวใน ICU ร้อยละ 0.03 และเสียชีวิตเพียงร้อยละ 0.02 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่มิได้รับวัคซีน หรือรับไม่ครบโดส หรือไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น (ภาพ6)
สรุปว่า กรณีของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย XBB ที่มีการแพร่เพิ่มจำนวนในสิงคโปร์ มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ “ยังไม่พบ” ผู้เจ็บป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. และ เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ปัจจัยหลักน่าจะมาจากประเทศสิงคโปร์มีจำนวนผู้รับวัคซีนครบโดสถึงร้อยละ 92% และได้รับเข็มกระตุ้นถึงร้อยละ 79 (ภาพ 6-7,8.1=8.3)
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวในต่างประเทศ ตรวจพบโอมิครอนกลายพันธุ์ตัวใหม่ ไม่ว่าจะเป็น BQ.1.1 และ XBB สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว และดื้อภูมิคุ้มกันมากกว่าทุกสายพันธุ์ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2565 ว่า ขอชี้แจงว่าจากข้อมูลการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ ยังไม่มีรายงานการตรวจพบสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เชื้อโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.5
จากฐานข้อมูล GISAID ณ วันที่ 7 ต.ค. 2565 ประเทศไทยพบ BA.4 จำนวน 218 ราย ในส่วน BA.2.75 และลูกหลาน BA.2.75.1, BA.2.75.2 พบ 24 ราย สายพันธุ์ BA.5 และลูกหลาน พบ 2,152 ราย โดยสายพันธุ์ย่อยหลักที่พบมากในประเทศไทย ได้แก่ สายพันธุ์ BA.5.2 พบรายงานจำนวน 1,709 ราย ซึ่งแนวโน้มสอดคล้องกับทั่วโลก คือ BA.5 ยังเป็นสายพันธุ์หลัก ส่วน BA.4, BA.2.75 และลูกหลาน เช่น BA.2.75.1, BA.2.75.2 และ BA.2.75.x พบเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า การกลายพันธุ์เป็นเรื่องธรรมชาติของไวรัส สำหรับสายพันธุ์ BQ.1.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.5 ที่มีการกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่งบนส่วนหนาม ได้แก่ R346T, K444T, และ N460K ช่วยให้สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ดี ยังไม่พบรายงานในประเทศไทย
ส่วนสายพันธุ์ XBB ซึ่งมีต้นตระกูลมาจาก BA.2 นั้น เป็นลูกผสมระหว่างโอมิครอนสายพันธุ์ BJ.1 และ BA.2.75 ปัจจุบันทั่วโลกรายงานสายพันธุ์ XBB จำนวน 260 ราย BJ.1 จำนวน 114 ราย และ BA.2.75 จำนวน 9,047 ราย สำหรับประเทศไทยรายงานพบเฉพาะสายพันธุ์ BA.2.75 จำนวน 18 ราย โดยยังไม่พบสายพันธุ์ BJ.1 และ XBB
"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมมือกับเครือข่ายเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ และติดตามดูสายพันธุ์ที่อาจมีปัญหาอย่างใกล้ชิด หากพบสัญญาณว่าตัวใดมีปัญหาจะจับตาเป็นพิเศษ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีสัญญาณการกลายพันธุ์ที่ต้องกังวล ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ควรตื่นตระหนกจากข้อมูลบางส่วนในสื่อโซเชียล ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสน เน้นย้ำว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็น ขอให้ฉีดกระตุ้นอย่างน้อย 4 เดือน จากเข็มล่าสุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ควรรับถึงเข็มที่ 4 เมื่อใดที่พบการระบาดเพิ่มขึ้น มาตรการป้องกันตนเองทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ยังใช้รับมือการแพร่ระบาดได้ทุกสายพันธุ์" นพ.ศุภกิจ กล่าว