'หมอยง' ชี้ 8 อาการโควิดวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ระยะฟักตัวเหลือ 3 วัน ลงปอดน้อยลง ตรวจอุณหภูมิกรองสถานที่ต่างๆ ไม่ได้ผล ส่วนมากเมื่อยตัวไม่มีไข้ ไอ - กลุ่ม 608 เด็กเล็ก ยังต้องเตรียมพร้อมรับมือต่อ
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ถึง 8 อาการโรคโควิดในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ระบุว่า
ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ลักษณะอาการของโรคได้มีการเปลี่ยนแปลง
1.ระยะฟักตัวของโรคสั้นลง จากการศึกษาในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตากับสายพันธุ์โอมิครอน ระยะฟักตัวของโรคสั้นลงมาอยู่ที่ประมาณ 3 วัน ในระยะหลังนี้
2.ความรุนแรงลงปอดทำให้เกิดปอดบวม จะเห็นได้ว่าตั้งแต่สมัยยุคแรกสายพันธุ์อู่ฮั่น มีอัตราการลงปอดฉายภาพรังสีปอดจะมีฝ้าพบได้บ่อย แต่ในปัจจุบันการลงปอดลดน้อยลง หรือแปลว่า ความรุนแรงลดน้อยลง
3.แต่เดิมอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รส พบได้บ่อยมาก แต่ปัจจุบันนี้อาการดังกล่าวพบน้อยมาก
4.อาการไข้แต่เดิมเราพบได้บ่อย จะเห็นว่าเราใช้หลักการตรวจอุณหภูมิ ในการตรวจกรองในสถานที่ต่างๆ ปัจจุบันไม่สามารถใช้ได้ เพราะในปัจจุบันนี้อาการไข้จะเป็นอยู่ 1 – 2 วัน และมีจำนวนมากเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวไม่มีไข้
5.อาการสำคัญขณะนี้คือเจ็บคอมาก เหมือนมีอะไรบาด และมีอาการไอ เป็นอาการสำคัญของการอักเสบในลำคอ
6.การติดต่อหรือแพร่กระจาย เกิดขึ้นได้ง่าย จะเห็นว่าเมื่อมีผู้ป่วยจะเป็นการติดทั้งครอบครัว เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม ในยุคแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ ในระยะหลังนี้ เด็กจะมีอาการน้อยและสามารถกระจายโรคได้มาก
7.การระบาดของโรคมีแนวโน้มไปตามฤดูกาลแบบไข้หวัดใหญ่ ในซีกโลกเหนือ เช่นยุโรปและอเมริกา จะมีการระบาดมากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นฤดูหนาว และประเทศซีกโลกใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จะมีการระบาดมากในฤดูหนาวเช่นกัน ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อน ไม่มีฤดูหนาวที่แน่ชัด การระบาดพบได้ตลอดทั้งปี แต่การระบาดมากจะเกิดในหน้าฝน ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายนเช่นเดียวกับซีกโลกใต้ และจะเกิดอีกครั้งหนึ่งซึ่งไม่มากนักในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ซึ่งต่างกับตอนแรกของการระบาดของ covid 19 ไม่เป็นฤดูกาล
8.ไวรัสโควิค 19 มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ แนวโน้มในอนาคตจึงทำให้เมื่อติดเชื้อและสามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก แต่อาการของโรคมีแนวโน้มลดลง ความสำคัญจึงอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น 608
วัคซีนที่ใช้จะต้องใช้ให้ตรงสายพันธุ์ที่คาดว่าจะเกิดมีการระบาด เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ และจะต้องให้ก่อนที่จะมีการระบาด เช่นในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม และกลุ่มที่ควรรับวัคซีนอย่างยิ่งคือกลุ่ม 608 รวมทั้งเด็กเล็ก