ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิพากษาถอนคำสั่งอธิบดีกรมเจ้าท่า รื้อถอนขนำคอกหอยท่าฉาง ชี้ชัดให้เอกชนผู้เลี้ยงหอยดำเนินกิจการต่อได้ประโยชน์มากกว่า
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงาผลคำพิพากษาศาลปกครองนครศรีธรรมราช ระบุว่าเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 เวลา 11.00 น. ศาลปกครองนครศรีธรรมราชได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 384/2563 หมายเลขแดงที่ 245/2565 ระหว่าง นางสาวเนาวรัตน์ แพวิเศษ ผู้ฟ้องคดี กับ กรมเจ้าท่า ที่ 1 อธิบดีกรมเจ้าท่า ที่ 2 ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 ที่ 3 และผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี ที่ 4 ผู้ถูกฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับอนุญาตจากกรมประมงให้เพาะเลี้ยงหอยแครง บริเวณทะเล อ่าวท่าฉาง (อ่าวบ้านดอน) ตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้ปลูกสร้างขนำคอกหอยใช้ในการเฝ้าดูแลหอยในพื้นที่ตามส่วนที่ได้รับอนุญาตและตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมประมงกำหนด อันเป็น สิ่งปลูกสร้างตามวิถีชุมชนดั้งเดิม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีคำสั่งไม่อนุญาต และให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนขนำคอกหอยดังกล่าว
ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี โดยมีคำขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ควบคุมการทำงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และที่ 4 ในการอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีปลูกสร้างขนำคอกหอย ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ ไว้เป็นการชั่วคราว ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับอนุญาตจากกรมประมงให้เพาะเลี้ยงหอยแครง บริเวณทะเลอ่าวท่าฉาง (อ่าวบ้านดอน) เขตท้องที่ตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามใบอนุญาต เลขที่ 12/2562 ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เขตพื้นที่รวม 27,302 ตารางเมตร และได้ปลูกสร้างขนำคอกหอยเพื่อใช้ในการเฝ้าดูแลในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ขนาดความกว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร มีโครงสร้างประกอบด้วย เสาคอนกรีตเสริมเหล็กปักลงในพื้นดินใต้ทะเล จำนวน 6 ต้น ยกสูงด้านบนเป็นขนำคอกหอย จำนวนหนึ่งชั้น มีหลักคอนกรีตปักบริเวณใกล้ ๆ ขนำคอกหอยอีก 3 หลัก ภายในเป็นห้องพักอาศัย กั้นฝาด้วยไม้ ปูพื้นไม้ หลังคามุงกระเบื้อง มีบันไดไม้ยื่นลงในทะเล ไม่มีห้องสุขาหรือระบบบำบัดสิ่งปฏิกูล และนายอำเภอท่าฉาง ได้รับรองว่าสิ่งล่วงล้ำลำน้ำดังกล่าวปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2537 จนถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560
จึงเห็นได้ว่า ตามลักษณะสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นเพียงขนำพื้นบ้านคล้ายเพิงพักชั่วคราวที่สามารถรื้อถอนออกไปได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าดูแลหอย มิได้มีลักษณะเป็นที่พักอาศัยถาวร และการปลูกสร้างขนำคอกหอย ในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนทั่วไปที่ใช้แหล่งน้ำ ไม่เป็นอุปสรรคต่อระบบการระบายน้ำหรือการชลประทาน การสัญจรทางน้ำ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ตามข้อ 6 (5) และข้อ 9 (2) ของกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2559 ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงหอยแครงซึ่งเป็นหอยทะเล และการปักเสาคอนกรีตเสริมเหล็กลงบนพื้นดินใต้ทะเลเป็นรากฐานรองรับขนำคอกหอยย่อมเป็นการกระทำด้วยความจำเป็น เพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรงใช้ป้องกันแรงกระแทกจากคลื่นลมทะเลได้ตามสมควร ซึ่งรับฟังได้ตามที่
ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดเพชรบุรีมีวิถีการเลี้ยงหอย อันเป็นวิถีชุมชนดั้งเดิมตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2522 และเมื่อปี พ.ศ. 2522 อธิบดีกรมประมงได้กำหนดเงื่อนไข ลงวันที่ 9 เมษายน 2522 ให้ผู้รับอนุญาตถือปฏิบัติในการเลี้ยงหอย โดยร้านหรือโรงเรือนเฝ้าหอยต้องสร้างในแปลงคอกหอยที่ได้รับอนุญาต
จึงรับฟังได้ว่า ขนำคอกหอยเป็นวิถีชุมชนของผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยทะเลบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาเป็นเวลายาวนานพอสมควร เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับจากการมีบริเวณพื้นที่สาธารณะโดยปราศจากสิ่งปลูกสร้างกีดขวาง ทางน้ำและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้โดยปราศจากข้อจำกัดจากการที่ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยทะเลตามที่ได้รับอนุญาตตามเขตพื้นที่ที่กำหนด กับประโยชน์ของเอกชนผู้ซึ่งเมื่อครั้งดั้งเดิมตามวิถีชุมชนได้ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยทะเลสร้างรายได้ให้ชุมชนและส่งผลผลิตอาหารทะเลเข้าสู่ตลาดผู้บริโภค ซึ่งจำเป็นต้องมี อาคารสิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่าขนำคอกหอย เพื่อใช้เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในการเฝ้าดูแลหอย และป้องกันมิให้มิจฉาชีพเข้ามาขโมยหอย เมื่อเขตพื้นที่ที่กำหนดให้สามารถใช้เลี้ยงหอยทะเลเดิม ได้ถูกจำกัดขอบเขตไว้ การให้มีสิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่าขนำคอกหอยในเขตพื้นที่ดังกล่าว จึงไม่อาจถือได้ว่า ประชาชนทั่วไป จะมีผลกระทบเพิ่มมากขึ้น และการให้เอกชนผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยได้ใช้พื้นที่สาธารณะ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า
ประกอบกับกรณีของจังหวัดเพชรบุรี ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเพชรบุรี ได้มีการอนุญาตให้มีอาคารสิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่ากะเตงไว้เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ที่ในการประกอบอาชีพเลี้ยงหอยทะเลสำหรับวิถีชุมชนดั้งเดิมได้ จำนวน 141 ราย และปัจจุบันยังไม่มีการเพิกถอนใบอนุญาตแต่อย่างใด
เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยทะเลตามวิถีชุมชนดั้งเดิมบริเวณทะเลอ่าวไทย จังหวัดเพชรบุรี และบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเหมือนกันในสาระสำคัญ จึงควรได้รับการปฏิบัติจากฝ่ายปกครองอย่างเดียวกัน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีปลูกสร้าง สิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำและสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำที่เป็นขนำคอกหอย จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจากข้อเท็จจริงในเรื่องเดียวกัน และวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ในประเด็นเรื่องการกำกับดูแลและการติดตามผลการปฏิบัติงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ผู้มอบอำนาจการเป็นเจ้าท่าให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจนั้น เมื่อได้มอบอำนาจแล้ว ผู้มอบอำนาจย่อมมีหน้าที่กำกับดูแลและติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ และมีอำนาจแนะนำหรือแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจได้ ตามมาตรา 40 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำการโดยไม่ถูกต้องและ ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการพิจารณาใช้อำนาจในฐานะเป็นเจ้าท่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาที่มอบอำนาจ ก็ชอบที่จะยกเลิกคำสั่งมอบอำนาจแล้วเข้าดำเนินการแก้ไข เพื่อให้การพิจารณาคำขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของตน หรือกำกับดูแลการทำงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และที่ 4 ในการพิจารณาคำขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่เป็นขนำคอกหอยหรือขนำเฝ้าหอยให้เป็นไปโดยชอบด้วยหลักเกณฑ์ของกฎหมายต่อไป
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำที่เป็นขนำคอกหอยหรือขนำเฝ้าหอย และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และที่ 4 ในการพิจารณาคำขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่เป็นขนำคอกหอยหรือขนำเฝ้าหอยให้เป็นไปโดยชอบด้วยหลักเกณฑ์ของกฎหมาย สำหรับคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำไว้เป็นการชั่วคราว ให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอยู่