ดีเอสไอ สนธิกำลังหน่วยงานภาครัฐ 20 แห่ง ปฏิบัติการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทวงคืนที่ดินสาธารณะ 178 ไร่ ปิดตำนานบุกรุกหาดเลพัง-ลายัน มูลค่า 50,000 ล้าน ชื่นชมจนท.รัฐ บังคับใช้กฏหมายเข้มข้นรักษาผลประโยชน์ประเทศ-ประชาชนส่วนรวม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วย ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายศุภชัย คำคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการคดีพิเศษภาคพื้นที่ 8 เดินทางเข้าร่วมปฏิบัติการการทวงคืนพื้นที่ 178 ไร่ บริเวณชายหาดเลพัง ลายัน ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อให้เป็นตามคำพิพากษาของศาลที่สั่งให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ สำหรับประชาชาชนใช้ร่วมกัน โดยการปฎิบัติการรวมในครั้งนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 20 หน่วยงานเข้าร่วมปฎิบัติการ โดยมีบังคับคดีจังหวัดภูเก็ต นายกองค์การบริหารตำบลเชิงทะเล นายอำเภอถลาง และรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นหน่วยงานหลัก
นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า พื้นที่ 178 ไร่นี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเป็นคดีพิเศษแล้ว ดังนั้น นับจากวันนี้เป็นต้นไปถ้ามีผู้ใดแอบอ้างเอกสารสิทธิ์หรือเจตนาครอบครองที่ดินแปลงนี้ ขอให้แจ้งเบาะแสมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามสโลแกน "DSI เข้าถึงง่ายได้ความยุติธรรม" ที่ดินย่านนี้มีมูลค่าตารางวาละ 1 ล้านบาท ไร่ละ 400 บาท จำนวน 178 ไร่ จึงมีมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาท ขอชื่นชมความเข้มแข็งและความกล้าหาญ ของผู้บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดภูเก็ต ที่นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ณรงค์ วุ่นซิ่ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ต เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต อำเภอถลาง องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนธิกำลังกว่า 300 นาย
"สำหรับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย พร้อมสนับสนุนหน่วยงานของรัฐ เป็นการเน้นย้ำที่จะบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มข้นต่อผู้กระทำความผิด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนส่วนรวม โดยเฉพาะการบุกรุกยึดถือครอบครองหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และที่ดินของรัฐ” อธิบดีดีเอสไอระบุ
ขณะที่ นายปวีณ กุมาร บังคับคดีจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า "การบังคับคดีวันนี้เป็นส่วนของ คดีแพ่งของศาลจังหวัดภูเก็ต หมายเลขแดงที่ 885-890/2552 โจทก์ 6 คน ประกอบด้วย อรพรรณ พลอยเพชร โดยอัจฉรา ยุงก์ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน ที่ 1 พิทักษ์ บุญพจสุนทร ที่ 2 บริษัท พังงารีสอร์ท จำกัด ที่ 3 สดใส องค์ศรีตระกูล ที่ 4 สวัสดิ์ ทองไพยุทธ ที่ 5 ธงชัย บุศราพันธ์ ที่ 6 ส่วนจำเลย ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่ 2 นายอำเภอถลาง ที่ 3 องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ที่ 4 กรมที่ดิน ที่ 5 หัวหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ที่ 6 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ส่วนแยกถลาง ที่ 7
นายปวีณ กล่าวด้วยว่า คดีนี้สู้คดีกัน 3 ศาล โดย ศาลฎีกา พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดี ดังนั้น จังหวัดภูเก็ต จำเลยที่ 1 และในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ได้มอบอำนาจให้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล นายอำเภอถลาง เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเมือง และเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอถลาง รวม 4 คน เป็นผู้รับมอบอำนาจและต้องดำเนินการร่วมกัน
โดยในปี 2561 จำเลยที่ 1 จังหวัดภูเก็ต ขอศาลออกหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดี ออกไปปิดประกาศขับไล่รื้อถอน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 แจ้งให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารร้องแสดงอำนาจพิเศษภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 มีผู้ร้องแสดงอำนาจพิเศษ 5 ราย ได้แก่ เจริญ เสงี่ยมศักดิ์ศรี ที่ 1 ภาวิดา ไตรปั่น ที่ 2 ประดิษฐ์ อุดม ที่ 3 กนกพล สมรักษ์ ที่ 4 ปรีชา ถาวร ที่ 5 คดีนี้สู้คดีกันอีก 3 ศาล ซึ่งศาลฎีกา ตัดสินว่า ผู้ร้องแสดงอำนาจพิเศษทั้ง 5 ราย ไม่มีสิทธิบนที่ดิน
ต่อมา ปี 2564 จังหวัดภูเก็ต จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดิน 178 ไร่ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 แต่ดำเนินการได้เพียงบางส่วน และมีผู้ขัดขวางการรื้อถอน โดยอ้างว่าได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นดีต่อศาลจังหวัดภูเก็ต
ขณะที่ได้มีผู้เข้ามาถือครองในที่ดินพิพาท 178 ไร่ เป็นจำนวนมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่คู่ความได้ต่อสู้ตามกระบวนการศาลจนครบถ้วนแล้ว วันนี้ 30 ก.ย.2565 บังคับคดีจังหวัดภูเก็ตพร้อมด้วยหน่วยงานอีกกว่า 20 หน่วยงานจึงเข้าปฎิบัติการรื้อถอนโดยไม่มีผู้คัดค้าน
ส่วน นายณรงค์ วุ่นซิ่ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า "ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ช่วยให้พื้นที่หาดลายัน และหาดเลพัง พื้นที่ 178 ไร่ ได้กลับมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ชาวภูเก็ต นักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติได้ใช้ร่วมกัน"
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าจะปฎิบัติการรื้อถอนในครั้งนี้ ช้างจากจังหวัดสุรินทร์ ชื่อพังกำไลเงิน ถูกผูกล่ามโซ่อยู่ในคอกช้างในพื้นที่ 178 ไร่ด้วย แต่ในวันนี้ไม่พบช้างแต่อย่างใด ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ช้างพังกำไลเงิน ได้หายออกจากพื้นที่ตอนก่อนสว่างของวันที่ 28 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา
ผู้ที่อยู่ใกล้คอกช้างระบุว่า “ผมเป็นคนเฝ้าที่ดินของนายหัวซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแต่เป็นคนกรุงเทพ ตอนกลางคืนของวั้นที่ 27 ผมยังเห็นช้างอยู่ในคอก แต่ตื่นมาตอนหัวรุ่งวันที่ 28 ปรากฏว่าช้างหายไปแล้ว”
อ่านข่าวในหมวดเดียวกัน
- พบช้างสุรินทร์โผล่หาดเลพัง ภูเก็ต –30 ก.ย. ครบกำหนด 15 วัน ลุ้นรื้อถอนผู้บุกรุก 178 ไร่
- จนท.บังคับคดี-อบต.เชิงทะเล ติดหมายเตรียมรื้อถอนร้านค้ารุกหาดเลพัง 178 ไร่ จ.ภูเก็ต