'จิรายุ' ยื่น DSI สอบ ผู้บริหารระดับสูงใน ทส.หลังได้รับเบาะแสมีฮั้วประมูลปี 63-64 เฉียดหมื่นล้านบาท เผยยื่น ป.ป.ช.สอบผู้บริหารหลายอีกสามกระทรวง ขยายผลอภิปรายไม่ไว้วางใจ จ่อยื่น ป.ป.ช.สอบปมรถไฟฟ้สายสีส้มต่อ หลังทบทวนเอกสารแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางเข้ายื่นพยานเอกสารเพิ่มเติมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษข้าราชการระดับสูง ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยมี พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นตัวแทนรับหนังสือ
นายจิรายุ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่เมื่อช่วงเช้าได้ไปยื่นหนังสือให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารระดับกระทรวง 3-4 กระทรวงหลักมาแล้วนั้น ซึ่งในส่วนของ ป.ป.ช. จะเป็นในส่วนของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำด้วย โดยการมา DSI ในวันนี้เกิดขึ้นจากภายหลังที่ตนได้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ทั้งปลายปีและต้นปี หลังจากนั้นคณะกรรมาธิการก็ได้เรียกเอกสารและสอบทั้งเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง
"ที่น่าสนใจก็คือ ผมได้รับเอกสารจำนวนมากจากข้าราชการประจำในกระทรวงในกรมต่างๆ 3 กระทรวง ซึ่งเป็นข้าราชการที่มองไม่เห็นถึงความยุติธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต ของผู้บริหารในประเทศ จึงได้ส่งข้อมูลลับมาเป็นจำนวนมาก จากนั้นคณะกรรมาธิการจึงได้มีการตั้งคณะไต่สวนพิจารณาทั้งลงสืบเอกสารพยานหลักฐานและลงพื้นที่จริง และสอบเอกสารสำคัญ จนเป็นที่มาของการมายื่นที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินการเอาผิดต่อข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองที่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ เนื่องจากมีการประมูลโครงการสำคัญๆ มูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาทในงบประมาณปี 63-64 แล้วก็มีการฮั้วประมูล" นายจิรายุกล่าว
นายจิรายุกล่าวต่อว่าส่วนตัวมีความเห็นว่าเอกสารหรือพยานหลักฐานนั้นค่อนข้างสมบูรณ์และคณะกรรมาธิการก็มีการกลั่นกรอง จนกระทั่งที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ตนเป็นผู้ยื่นต่อ DSI และ ป.ป.ช. โดยพยานหลักฐานมีจำนวนกว่า 2,000 หน้า ได้ทยอยยื่นไปชุดหนึ่ง แล้วก็จะมีพยานหลักฐานเพิ่มเติมให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งจะแตกต่างจากการร้องหน่วยงานอื่นๆ ของบุคคลทั่วไป เพราะบุคคลทั่วไปอาจจะมาร้องทุกข์กล่าวโทษแค่ 4-5 ฉบับ แต่กรรมาธิการกลั่นกรองอย่างรอบคอบเพื่อที่จะส่งให้ DSI รับเป็นคดีพิเศษต่อไป ก็ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านภายหลังจากจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ประธาน กมธ.กิจการศาลฯ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวต่อว่า สำหรับคดีที่มายื่นให้กับ DSI ในวันนี้เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เท่านั้น เพราะพบว่ามีหลายกรมที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการฮั้วประมูลทุจริต ส่วนชื่อของกรมตนไม่ขอระบุ แต่อยู่ในสำนวนเรียบร้อยแล้ว มูลค่ารวมกันกว่า 10,000 ล้านบาท และยังพบพยานหลักฐานสำคัญอันควรเชื่อได้ว่าผู้บริหารระดับสูง ไม่ต่ำกว่าระดับรองอธิบดีมีส่วนรู้เห็นเป็นใจให้กับกลุ่มบริษัทเอกชน เพราะระดับนี้มีอำนาจจัดซื้อจัดจ้าง อย่างไรก็ตาม ในสำนวนคดี เราได้ขอให้ DSI เข้าไปดูในเรื่องขององค์กรอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีการทำกันอย่างเป็นระบบ แบ่งงานกันทำ มีการวางแผนรู้เห็นเป็นใจในส่วนราชการอื่นๆ ด้วย จึงเล็งเห็นว่า DSI จะเป็นหน่วยงานที่สามารถสืบเอกสารจากต้นทางได้ แต่ต้องยอมรับว่าเอกสารบางอย่างกรรมาธิการก็ไม่สามารถเรียกดูได้ เรียกดูแล้วก็ยังไม่ได้ แต่มีโอกาสดีที่มีข้าราชการระดับสูงที่ยังรักความยุติธรรมช่วยส่งเอกสารสำคัญ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญให้กับ DSI ได้พิจารณา
นายจิรายุกล่าวต่อว่าส่วนกระทรวงที่เหลือที่ยังไม่ยื่นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้แก่กระทรวงคมนาคม ซึ่งศาลอาญาทุจริตฯ มีคำพิพากษาออกมาแล้วในเรื่องของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทำให้ต้องกลับไปทบทวนเอกสารบางอย่าง ส่วนกระทรวงแรงงานยังมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องรวบรวม ส่วนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตนได้ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งทราบว่า ป.ป.ช.ได้ตั้งกรรมการไต่สวนแล้วและทางกรรมาธิการฯ ได้พบพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยจะทยอยนำส่ง ป.ป.ช.ในเร็ววันนี้
ด้าน พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะรับเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป.