สพฉ.ออกเกณฑ์รักษาโควิดใหม่ หลังปรับเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เฉพาะกลุ่มสีแดง อาการวิกฤติ ใช้สิทธิ UCEP รักษาฟรี เข้าโรงพยาบาลได้ทุกที่ เริ่ม 1 ต.ค.นี้ พร้อมแถลงปิดศูนย์ EOC หลังเปิดมากว่า 2 ปี เผยมีข้อสั่งการ 480 ฉบับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2565 ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงสิทธิ์ UCEP Plus หลังโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ว่า สิทธิ UCEP เป็นนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2560 โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ จากเดิมที่เจ็บป่วยฉุกเฉินแล้วเข้าโรงพยาบาลเอกชน ทำให้มีค่าใช้จ่าย แต่หลังจากมีการประกาศใช้ UCEP ทำให้ประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยกองทุนต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบให้
โดย สพฉ.มีหน้าที่ประเมินเพื่อคัดแยกผู้ป่วยวิกฤต หากไม่เข้าเกณฑ์ก็จะมีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำหนดเป็น UCEP โควิด-19 เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในทุกกลุ่ม ประชาชนจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แม้จะเป็นการดูแลจากที่บ้านหรือชุมชน
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศยกเลิก UCEP โควิด เมื่อเดือน มี.ค. 2565 ซึ่งมีกลไกของ UCEP Plus เข้ามาแทน ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. จนถึงปัจจุบัน เป็นการใช้ UCEP เดิมมาบวกกับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการกลุ่มสีเหลืองและสีแดง สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ทุกแห่งจนหายป่วย ไม่จำกัดแค่ 72 ชั่วโมงเหมือน UCEP ปกติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการรุนแรงขึ้นจำเป็นต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นในเครือข่ายจะไม่เสียค่าใช้จ่าย
แต่หากผู้ป่วยหรือญาติประสงค์จะไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเครือข่าย จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ส่วนผู้ป่วยอาการสีเขียวจะให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นโดยใช้สิทธิ UCEP Plus ได้เช่นกัน
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวอีกว่า แต่ภายหลังจากการที่รัฐบาลประกาศให้โรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นโรคติตต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ทำให้เกิดกลไกปรับปรุงเกณฑ์ UCEP Plus ใหม่ โดยปรับเกณฑ์พิจารณาเข้าสู่การคัดแยกปรับลดลงในบางส่วน เช่น กลุ่มเสี่ยงสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 8 โรคเรื้อรังที่ติดโควิดแบบไม่มีอาการ เดิมถือเป็นกลุ่มสีเหลือง และเข้า UCEP Plus แต่เกณฑ์ใหม่นี้ จะนับเฉพาะผู้ติดเชื้อกลุ่มสีแดงที่มีอาการวิกฤติ รวมถึงอาการที่นำไปสู่การเสียชีวิตโดยเร็ว ส่วนอัตราที่จะจ่ายให้โรงพยาบาลเอกชน กรณี UCEP Plus จะจ่ายเพิ่มขึ้น 25% จากปกติ
ข้อมูลการให้บริการ UCEP Plus ผู้ป่วยสะสม 383,258 ราย กลุ่มที่เข้าเกณฑ์ 81,304 ราย ส่วนกลุ่มไม่เข้าเกณฑ์อีก 301,954 ราย ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง แต่ถ้าเข้าโรงพยาบาลรัฐบาล หรือรักษาตามสิทธิจะไม่เสียค่าใช้จ่าย
"ภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ สพฉ.จะออกประกาศเกณฑ์ที่เป็นรายละเอียดและแจ้งให้ประชาชน สถานพยาบาลรับทราบเกณฑ์เดียวกัน ทั้งนี้ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเพื่อดูแล เป็นตัวกลางระหว่างผู้ป่วยกับสถานพยาบาล หากมีข้อคิดเห็นไม่ตรงกัน เราก็จะให้คำแนะนำและวินิจฉัย สามารถติดต่อที่หมายเลข 0 2872 1669" ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว
ทางด้าน นพ.วิฑูรย์ อนันตกูล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) กล่าวถึงการปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ระดับกระทรวง และปรับลดเป็นระดับกรม ว่า ตามที่ สธ.มีคำสั่งปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคโควิด-19 เพื่อติดตามเฝ้าระวังโรคใกล้ชิด และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงก็พร้อมกลับมาปฏิบัติการในระดับกระทรวง
ทั้งนี้ ศูนย์ EOC เปิดดำเนินการมา 2 ปี 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2563 มีการประชุมทั้งหมด 482 ครั้ง มีข้อสั่งการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 480 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 3,259 ข้อ แบ่งเป็นกลุ่มภารกิจ 2,648 ข้อ และพื้นที่ 611 ข้อ และยังมีการประชุมทางไกลวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อสื่อสาร/สั่งการ และติดตาม การดำเนินงานระดับพื้นที่ รวม 67 ครั้ง
สำหรับมาตรการที่สำคัญของศูนย์ EOC ที่ผ่านมา คือ 1) บับเบิ้ล แอนด์ซีล (Bubble and seal) เพื่อควบคุมโรคใน จ.สมุทรสาคร 2) พื้นที่ไข่ขาว-ไข่แดง คือ การจัดแผนที่จุด แสดงการกระจายตัวผู้ติดเชื้อสะสม ผู้ป่วยสะสมและที่ยังรักษาอยู่ และ 3) ยุทธศาสตร์ขนมครก กำหนดการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อฉีดในคลัสเตอร์ต่างๆ หลายจุดในพื้นที่
นพ.วิทูรย์ กล่าวอีกว่า สธ.ยังดำเนินการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด พร้อมยกระดับได้อีกครั้งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง โดยระหว่างนี้จะปรับไปดูแลที่ EOC ระดับกรม โดยกรมควบคุมโรครับหน้าที่แทน ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่า สธ.เตรียมเวชภัณฑ์อย่างเพียงพอ
สำหรับยา และเวชภัณฑ์ ในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ คงเหลือ 5,621,175 เม็ด เรมดิซิเวียร์ คงเหลือ 23,451 ไวอัล และโมนูลิราเวียร์ คงเหลือ 20,362,045 เม็ด