สปสช.ยุติการแจก ATK ผ่าน 'เป๋าตัง' ที่ร้านขายยา หลังปรับโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เริ่ม 1 ต.ค.นี้ ยันรักษาฟรีตามสิทธิ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ว่า ในส่วนของ สปสช. ซึ่งสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ให้เข้าถึงบริการ ได้ปรับแนวทางการสนับสนุนเพื่อรองรับ โดยประชาชนยังคงได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอยู่ตามปกติ โดยให้เป็นการรับบริการตามสิทธิ์สุขภาพที่ตนเองมีสิทธิ์อยู่ ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ข้าราชการ และประกันสังคม ดูแลรักษาตามอาการและตามดุลยพินิจแพทย์ ทั้งนี้ การรักษาแบบเจอ แจก จบ กรณีไม่มีอาการหรือไม่มีอาการที่ไปพบแพทย์ที่ รพ. เพื่อรับการวินิจฉัยและจ่ายยาตามอาการนั้น ก็มีรูปแบบของเทเลเฮลธ์ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน โดยพบแพทย์ทางไกล วินิจฉัยอาการ และหากต้องจ่ายยาก็จะส่งยาผ่านไปรษณีย์นั้น ไม่ว่าสิทธิข้าราชการ ประกันสังคม หรือหลักประกันสุขภาพยังสามารถรับบริการได้ตามปกติ
ส่วนเรื่องการแจก ATK ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังไปรับที่ร้านยาสำหรับสิทธิหลักประกันฯ ก็จะยุติการแจก ATK ในวันที่ 30 ก.ย. นี้ แต่หากไป รพ.แล้วแพทย์พิจารณาเห็นว่าควรตรวจคัดกรอง ก็จะไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะเบิกมายัง สปสช.ได้
"สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักสามารถรับการรักษาเป็นผู้ป่วยในใน รพ.ตามสิทธิเช่นกัน ส่วนกรณีการใช้สิทธิ UCEP Plus เนื่องจาก ครม.ยังไม่มีมติยกเลิก หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโควิดก็ยังสามารถใช้สิทธิได้" ทพ.อรรถพร กล่าว
ทพ.อรรถพร กล่าวถึงส่วนเรื่องของการเบิกจ่ายของ รพ.ว่า เปลี่ยนจากงบเงินกู้มาเป็นงบปกติ แต่ยืนยันว่าประชาชนยังรับบริการได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ โดยค่าเยียวยาความเสียหายจากวัคซีนโควิด-19 สิทธิบัตรทองยังยื่นเรื่องได้โดยใช้หลักเกณฑ์และอัตราจ่ายตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ
ส่วนผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อยใช้เข้ม DMHT 5 วัน ยังต้องมารับการรักษาหรือไม่ หรือใช้เพียง DMHT ก็เพียงพอในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ทพ.อรรถพรกล่าวว่า ตรงนี้แล้วแต่การตัดสินใจของประชาชน เนื่องจากไม่ได้มีข้อบังคับ หากมารับบริการรักษาพยาบาลก็สามารถมารับบริการได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สปสช. ได้จัดทำและประกาศหลักเกณฑ์การเข้ารับบริการกรณีโควิด-19 ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาตามรายละเอียดดังนี้
การจ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับคนไทยทุกสิทธิ์ ได้แก่ ค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ค่าบริหารจัดการศพ ค่าความเสียหายจากการฉีดวัคซีน จะถูกยกเลิก แล้วปรับใช้สิทธิจากกองทุนสุขภาพของแต่ละกองทุนตามระบบปกติ
ในส่วนของ สปสช. หากเกิดกรณีความเสียหายหลังฉีดวัคซีน จะใช้ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ในการจ่ายชดเชยเบื้องต้นแทน (ม.41 ให้คณะกรรมการกันเงินจํานวนไม่เกินร้อยละหนึ่ง ของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการโดยหาผู้กระทำผิดมิได้ หรือ หาผู้กระทำผิดได้แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนด)
ค่าบริการดูแลรักษาผู้ป่วย กรณีผู้ป่วยนอก ค่าบริการแบบ OP Self Isolation หรือเจอ แจก จบ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ที่จ่ายให้หน่วยบริการจะถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นจ่ายชดเชยผู้ป่วยนอกตามระบบปกติ กรณีใช้บริการที่หน่วยบริการประจำ ค่าใช้จ่ายจะรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว แต่หากรับบริการนอกหน่วยบริการประจำ ยังมีรายการให้เบิกจ่ายเป็น กรณี ATK professional จ่ายตามจริงไม่เกิน 150 บาท และ RT-PCR จ่ายตามจริงไม่เกิน 900 บาท กรณีผู้ป่วยใน จากเดิมที่จ่าย On Top จากระบบ DRG ได้แก่ ค่าห้องตามระดับความรุนแรงของโรค ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการ/อุปกรณ์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และค่ายารักษาโควิด-19 เปลี่ยนเป็น จ่ายตามระบบ DRG จากกองทุนผู้ป่วยในระดับเขต ยกเลิกการจ่าย On Top ค่าห้องและค่าอุปกรณ์ป้องกัน ส่วนยารักษาโรคโควิด-19 ยังสามารถเบิกจากกระทรวงสาธารณสุขได้ต่อไป
ค่ายานพาหนะส่งต่อตามระยะทาง จากเดิมที่รวมค่าทำความสะอาดอุปกรณ์ PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท เปลี่ยนเป็น จ่ายเฉพาะค่าส่งต่อตามระยะทางกรมทางหลวงตามเดิม ยกเลิกการจ่ายค่า PPE และ ค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ
ค่าบริการฟอกเลือดผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จากเดิม จ่ายค่าฟอกเลือดครั้งละ 1,500 บาท ค่าชุด PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,000 บาทต่อครั้ง และค่ายานพาหนะส่งต่อรวมค่าทำความสะอาดจ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท เปลี่ยนเป็นจ่ายเฉพาะค่าฟอกเลือดครั้งละ 1,500 บาท ยกเลิกการจ่ายค่า PPE และค่ารถส่งต่อกรณีผู้ป่วยนอก
ค่าบริการกรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เปลี่ยนเป็นค่าบริการผู้ป่วยนอกและค่าบริการผู้ป่วยในตามระบบปกติ ยา IVIG จ่ายตามระบบ VMI