สธ.ปรับแผนรับโควิด-19 เข้าสู่โรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้ หลังยุบ ศบค. ย้ำรับมือได้ ทั้งระบบสาธารณสุข มีเตียง-ยาเพียงพอ ยันยังฟรีตามสิทธิ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำทีมผู้บริหาร แถลงข่าวเตรียมความพร้อม การป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข หลัง ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน - ยุบ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย 2565 เป็นต้นไป ว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติก่อนที่จะมีภาวะโรคระบาด ภาพรวมถือว่า มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นมาก ประเทศส่วนใหญ่ทั้งทวีปยุโรป อเมริกา แอฟริกา และเอเชีย กลับมาดำเนินชีวิตและมีกิจกรรมอย่างปกติแล้ว
สำหรับแผนปฏิบัติการและแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปหลังจากที่รัฐบาลกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยปัจจุบันไทยมีอัตราป่วยและเสียชีวิตถือว่าต่ำ ประชาชนมากกว่า 92% มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กว่า 143 ล้านโดส และประชาชนบางส่วนมีภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากการติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง โดยเดือน ก.ย.มีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง คนที่อาการรุนแรงคือกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป ดังนั้นแผนการเพื่อรองรับโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังลำดับที่ 57 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป จากนี้จะเสนอเข้า ครม.เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
“ถือเป็นหมุดหมายที่ทำให้เราเข้าใจตรงกันว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าทางเศรษฐกิจได้อย่างปลอดภัยและราบรื่น ซึ่งความจริงนั้นโรคโควิด-19 ได้คลายความรุนแรงมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะประชาชนมีความตระหนักและระวังตัวเองในการใช้ชีวิต ทำให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อด้วยมาตรการ DMHTT” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า จากนี้จะกลับมาใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ แต่จะลดมาตรการต่างๆ ลงไปบ้างเพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น และมีความมั่นใจในระบบสุขภาพ ยืนยันว่าการรักษายังดูแลฟรีตามสิทธิ ตามขั้นตอน ตามมาตรฐาน ตามดุลยพินิจของแพทย์เต็มที่ ยา วัคซีนก็พร้อม หากมีภาวะฉุกเฉินก็สามารถใช้สิทธิ์ USEP เข้ารักษาสถานพยาบาลที่ไหนก็ได้ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีน 3 เข็ม ยังไม่เพียงพอ ขอให้ประชาชนมารับวัคซีนเข็มที่ 4 เป็นอย่างต่ำ ส่วนเข็มที่ 5 กรณีคนที่ต้องทำงานใกล้คนหมู่มาก ก็ขอให้มาฉีดได้
“ช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนถึงวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และหลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ สธ.จะเร่งประชาสัมพันธ์ต่อประชาชนทุกวัน ให้มีความมั่นใจและเข้าใจว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรหลังจากที่โรคโควิด-19 ถูกลดระดับลงมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้ประชาชนเกิดความคุ้นชินและมีความสบายใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไป” นายอนุทิน กล่าว
ยันมียารักษาโควิดเพียงพอเกิน 6 เดือน
ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า สถานพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. มีประมาณ 900 แห่ง และมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,000 กว่าแห่ง กำลังคนกว่า 4 แสนคน จึงมีความพร้อมสำหรับขาลงในช่วงนี้ ขณะที่ สถานการณ์เตียงทั้งหมด 73,000 เตียง ซึ่งเคยขยายได้ถึง 140,000 เตียง ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.ย. 2565 มีผู้ป่วย 4,800 ราย คิดเป็น 6% ของเตียงที่มีอยู่
ภาพรวมทั้งหมด พบว่า อยู่ในระดับอาการไม่รุนแรงคือระดับ 2.1 และ 1 เกือบ 90% ส่วนเตียงระดับ 2.2 และ 3 มีแค่ 10% กว่าๆ ถือว่าเตียงมีความเพียงพอ
ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ใช้ท่อช่วยหายใจ 287 รายอาการรุนแรง 497 ราย ทั้งนี้ ใช้ยา 3 ตัว คือ
-
ยาฟาวิพิราเวียร์ เหลืออยู่ 5.6 ล้านเม็ด อัตราการใช้ 58,000 เม็ดต่อวัน เพียงพอใช้ 3.1 เดือน แผนจัดซื้อ 10 ล้านเม็ด สำหรับ 5.5 เดือน
-
โมลนูพิราเวียร์ 20 ล้านเม็ด เฉลี่ยใช้วันละ 1.4 แสนเม็ด เพียงพอใช้ 4.5 เดือน จัดซื้อเพิ่ม 35 ล้านเม็ด สำหรับ 7.2 เดือน
-
ยาเรมเดสซิเวียร์ 23,451 ไวอัล ใช้เฉลี่ยวันละ 1,219 ไวอัล พอใช้ 0.6 เดือน จัดซื้อเพิ่ม 3 แสนโดส สำหรับ 8.2 เดือน
ฉะนั้น สำหรับวันที่ 1 ต.ค.มนี้ ยาและบุคลากรมีเพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราใช้บุคลากรเกือบทั้งหมด ดังนั้นทุกคนมีประสบการณ์อย่างแน่นอน
ย้ำฉีดวัคซีนฟรี เน้นกลุ่มเสี่ยง 608
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก ทั้งผู้ป่วยเข้ารพ.และผู้อาการหนัก รวมถึงผู้เสียชีวิตแต่ต้องพยายามลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ ปี 2566 คาดว่าการระบาดจะพบได้ 1-2 ครั้ง เป็นไปตามฤดูการคล้ายไข้หวัดใหญ่
สำหรับระบบที่วางไว้คือ 1) เฝ้าระวังผู้ป่วยใน รพ. 2) เฝ้าระวังเป็นกลุ่มก้อน และมีทีมสอบสวนโรค และประกาศ พิจารณาเป็นโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นคนควบคุม 3) เฝ้าระวังสถานที่เฉพาะ เช่น โรงเรียน สถานดูแลผู้สูงอายุ 4) เฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ สำหรับวัคซีนมีในมือและในสัญญาซื้อ 42 ล้านโดส เพียงพอไป 6 เดือน แต่หากต้องใช้เพิ่มก็สามารถจัดหาได้
เบื้องต้นฉีดตามความสมัครใจ ปีละ 1-2 ครั้ง แต่สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง สำหรับการตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ปฏิบัติการมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่าง (DMHT) ส่วนประชาชนทั่วไปแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเข้าพื้นที่แออัด
"ประชาชนยังสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.กำหนด เน้นฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปและโรคเรื้อรัง ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1-2 ครั้งเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือสถาบันที่เชื่อถือได้ ขอให้รอคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งข้อมูลวัคซีนรุ่นใหม่และระยะเวลาที่ป้องกันโรคได้" นพ.โอภาสกล่าว
ยังรักษาโควิดฟรีตามสิทธิ์ เริ่ม ต.ค.นี้
ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สัปดาห์ที่แล้ว มีการนัดหมายกองทุนที่เกี่ยวข้องมาหารือขอยืนยันว่าการรักษาอย่างเป็นการรักษาฟรีตามสิทธิ ครอบคลุมตั้งแต่การวินิจฉัย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ยากิน ยาฉีด โดยทั้ง 3 กองทุน ได้เตรียมงบประมาณไว้รองรับแล้ว กรณีผู้ป่วยโควิด-19 ฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิยูเซ็ป พลัส (UCEP PLUS) สำหรับสถานพยาบาลชั่วคราวจะยุติทั้งหมดในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ส่วนแรงงานต่างด้าว กรณีมีประกันสุขภาพก็ให้ใช้สิทธิประกัน แต่หากไม่มีประกัน ก็จ่ายค่ารักษาเองตามระบบ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แนวทางรักษาโควิด-19 ฉบับปรับปรุงล่าสุด ที่จะเสนอเข้าที่ประชุม EOC ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ และเริ่มใช้วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป คือ หากติดเชื้อไม่มีอาการให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) และปฏิบัติตามมาตรการ DMHT 5 วัน คนมีอาการแต่ไม่มีปัจจัยร่วมก็รักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตาม DMHT เคร่งครัด 5 วัน หากมีปัจจัยเสี่ยงแพทย์จะประเมินเป็นรายๆ ว่าจะแอดมิดหรือไม่
ส่วนเรื่องการให้ยา หากไม่มีอาการก็จะไม่ให้ยา หากอาการไม่รุนแรง ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่แนะนำให้อะไร อาจจะพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรหรือฟาวิพิราเวียร์ แต่ถ้าให้จะต้องทำให้เร็วที่สุดภายใน 3-4 วัน หากอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง พิจารณาให้กินแพกซ์โลวิดก่อน หากเข้าโรงพยาบาลก็ให้แรมดิซิเวียร์ ก่อนโมนูลพิราเวียร์ แต่กลุ่มนี้จะไม่ได้รับฟาวิพิราเวียร์
กรณีในเด็กต่ำกว่า 12 ปี ให้ดูแลรักษาตามอาการทางอาการ หรืออาจให้ฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน กรณีอายุเกิน 12 ปี อาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงจะให้เรสดิซิเวียร์ 3 วันแรก หรือ ฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน หรือแพกซ์โลวิด 5 วัน หรือ ส่วนคนที่ปอดอักเสบจะให้เรมดิซิเวียร์ 5-10 วัน กรณีไม่มีปัญหาการกินยาหรือดูดซึมอาจให้แพกซ์โลวิด