‘ท่าเรือ’ อัปเดตแผนพัฒนา ‘แหลมฉบังเฟส 3’ เร่งถมงานโครงสร้างพื้นฐานส่วน F ส่งมอบ ‘กัลฟ์-พีทีทีแทงค์’ กลางปี 66 ก่อนกางแผนเติมเต็มส่วน F ให้จบปี 68 มองพื้นที่ E วางไทม์ไลน์พัฒนาเต็มเฟสปี 78
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 24 กันยายน 2565 นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการในส่วนท่าเทียบเรือ F
โดยตามเงื่อนไขในสัญญาร่วมลงทุน กทท. จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของท่าเรือ กรอบวงเงิน 50,000 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปีนับจากวันที่ลงนามในสัญญาร่วมลงทุน ก่อนส่งมอบให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (ประกอบด้วย บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล (PTT TANK) และ บจ. เชค โอเวอร์ซี อินฟราสตรัคเจอร์ โฮลดิ้ง (CHEC OVERSEA INFRASTRUCTURE HOLDING PTE. LTD.: CHEC OVERSEA)) เพื่อนำไปบริหารต่อไปนั้น
เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
3 Key Date จบกลางปี 66
ปัจจุบัน กทท. แบ่งงานในมือที่ต้องทำให้เสร็จเป็น 4 งาน งานที่ 1 คืองานทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น กทท. ได้จ้างเหมากิจการร่วมค้าซีเอ็นเอ็นชี (ประกอบด้วยไปด้วยประกอบด้วย บจ. เอ็น.ที.แอล.มารีน บริษัทลูกของ บมจ.พริมามารีน, บจ. นทลิน และ บจ. จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จากประเทศจีน) เป็นผู้ดำเนินโครงการฯ ในวงเงิน 21,230 ล้านบาท
โดย กทท.ออกหนังสือเริ่มงาน (NTP: Notice to Proceed) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 กรอบการทำงานกำหนด 3 ช่วง คือ Key Date ที่ 1 หลังจากออก NTP 1 ปี หรือในวันที่ 4 พ.ค. 2565 จะต้องก่อสร้างและส่งพื้นที่ถมทะเลในโซน A จำนวน 3 แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้ได้ส่งมอบงาน ซึ่งส่วนนี้Key Date 1 เรียบร้อยแล้ว โดยล่าช้าจากแผน แต่มีการปรับแผนเร่งรัด ส่งมอบเป็นเดือนส.ค. 65 ทำให้ภาพรวมงานล่าช้าเพียงเล็กน้อย
ส่วน Key Date 2 กำหนดส่งมอบในวันที่ 5 พ.ย. 2565 โดยต้องส่งมอบพื้นที่ถมทะเลอีก 1 ล้านลูกบาศก์อยู่ระหว่างดำเนินงาน ได้แก่ การขนย้ายดินเลน การถมทราย คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ กทท. ได้กายในสิ้นปี 2565 นอกจากนี้ กิจการร่วมค้าซีเอ็นเอ็นซีมีแผนที่จะเพิ่มเรือขุดลอกอีก 2 ลำ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการขุดมากกว่าเดิม อีกทั้งเร่งรัดก่อสร้างหลักผูกจอดเรือชั่วคราวเพื่อนำหินไปก่อสร้างคันหินล้อมพื้นที่ท่าเทียบเรือ E0 ท่าเทียบเรือ F ท่าเรือบริการ และท่าเรือชายฝั่งของโครงการ ปัจจุบัน หลักผูกจอดเรือชั่วคราว จุดที่ 1 และ 2 พร้อมใช้งานแล้ว ส่วนหลักผูกจอดเรือชั่วคราวจุดที่ 3 และ 4 จะพร้อมใช้งานภายในเดือนกันยายน 2565
สำหรับ Key Date 3 และการส่งมอบพื้นที่ท่าเทียบเรือ F หน้ากว้าง 1,000 เมตร ให้กลุ่มจีพีชี จะสามารถส่งมอบได้ตามสัญญาภายในกลางปี 2566 และส่งมอบพื้นที่ครบ 2,000 เมตร ประมาณพฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าการพัฒนาพื้นที่โซน Fจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2572
เร่งประมูล งานโครงสร้างพื้นฐานจบในปี 65/ พัฒนาเต็มผืนปี 78
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ในส่วนที่ 2 งานจ้างเหมาก่อสร้างโครงการ ได้แก่ งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค มีวงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท กทท. จะเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผนงาน ซึ่งอยู่ระหว่างประกาศ TOR ประมูล นอกจากนี้ ในส่วนงานที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ วงเงิน 900 ล้านบาท และ 4. งานจัดหาประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ วงเงิน 2,200 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในเดือนพ.ย. และธ.ค. 2565 ตามลำดับ
โดยตามสัญญาร่วมลงทุน กทท. จะทยอยส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มจีพีซี เริ่มบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2566 โดยมีเป้าหมาย เปิดให้บริการท่าทียบเรือ F1 ภายในปี 2568 รองรับได้ 2 ล้านที.อี.ยู. ซึ่งจะทำให้รองรับสินค้าได้รวม 13.1 ล้านที.อี.ยู.ต่อปี จากปัจจุบัน 11.1 ล้านที.อี.ยู.ต่อปี
นายเกรียงไกรกล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor เพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและระบบโลจิกติกส์ของประเทศให้ได้มาตรฐานในระดับสากล มูลค่าการลงทุน รวม 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 50,000 ล้านบาท ขณะที่เอกชนลงทุน 60,000 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี (ท่าเทียบเรือ F) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า ประกอบด้วยท่าเทียบเรือตู้สินค้า จำนวน 4 ท่า สามารถรองรับตู้สินค้าได้ไม่ต่ำกว่า 7 ล้าน ที่.อี.ยู. ต่อปี ท่าเทียบเรือรถยนต์ (RO/RO) 1 ท่า รองรับรถยนต์ได้ 1 ล้านคันต่อปี ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเทียบเรื่อชายฝั่ง อย่างละ 1 ท่า ซึ่งจะทำให้ทลฉ. มีขีดสามารถรองรับความจุตู้สินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้าน ที่.อี.ยู, ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 11 ล้าน ที่.อี.ยู.ต่อปี
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมหรือเป็นท่เรือสีเขียว (Green Port) ในเวลาเดียวกัน
ส่วนแผนระยะยาวของการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ในส่วนของระยะที่ 3 หลังพัฒนาพื้นที่โซน F เสร็จในปี 2568 คาดว่าหลังจากนั้นจะนำพื้นที่ส่วน E อีก 668 ไร่ ไปเปิดประมูลในอนาคต โดยคาดว่าดารพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2578