คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ คลายมาตรการผู้ป่วยอาการน้อยแยกกักตัว 5 วัน เข้าประเทศไม่ต้องแสดงใบฉีดวัคซีนหรือผล ATK รองรับโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เริ่ม 1 ต.ค.นี้ ด้านหมอยงเผยคนไทยติดโควิดแล้วเกินครึ่งประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2565 โดยมี นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม
นายอนุทินกล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัดซีนโควิด-19 ครอบคลุมมากกว่า 82% และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคจำนวนหนึ่งที่ต้องขอให้มารับวัคซีนให้ครบ เพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่การดำเนินชีวิตที่เป็นปกติมากที่สุด โดยจะปรับเปลี่ยนมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ภายใต้การพิจารณาอย่างสมดุล ทั้งมุมมองด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ที่ประชุมวันนี้ได้มีมติเห็นชอบ 2 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือ เห็นชอบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ตุลาคม 2565 - กันยายน 2566) ซึ่งได้ลงนามยกเลิกโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ลำดับที่ 57 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่
-
ด้านการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมโรค
-
ด้านการแพทย์และรักษาพยาบาล
-
ด้านการสื่อสารความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ และข้อมูลสารสนเทศ
-
ด้านบริหารจัดการ กฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจ
ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป และให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อให้เกิดความพร้อมทุกด้าน โดยจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจประกาศพื้นที่โรคระบาดตามความจำเป็น
นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องที่ 2 ได้เห็นชอบมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยก่อนเข้าประเทศ ยกเลิกแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเอกสารวัคซีนหรือผลการตรวจ ATK โรคโควิด-19 ยกเว้นโรคไข้เหลืองที่ยังดำเนินการตามปกติ, ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ยกเลิกการสุ่มตรวจสอบบันทึกการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยยังคงการเฝ้าระวังผู้เดินทางที่มีอาการป่วยของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคติดต่ออุบัติใหม่, ปรับมาตรการแยกกักสำหรับผู้ป่วยอาการน้อย/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการให้ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน และให้คำแนะนำแก่ประชาชนให้มีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบอีก 4 เรื่อง คือ 1.แผนบริหารจัดการวัคซีนและการให้วัคซีนโควิด-19 (วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้ม) ในเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี คาดว่าเริ่มให้บริการได้ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก โดยไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการไปโรงเรียน แต่แนะนำให้เด็กทุกคนเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต 2.แนวทางการใช้ Long Acting Antibody (LAAB) ของประเทศไทย ที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติม ในประชาชนกว่า 3.5 พันคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับวัคซีนแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 ต่อไป 3.แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคโควิด-19 หลังการระบาดใหญ่ (Post-pandemic) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรองรับ เพื่อให้ประชาชนยังสามารถใช้สิทธิการรักษาเช่นเดียวกับโรคทั่วไป ทั้งการเข้าถึงการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสตามแนวทางการรักษาล่าสุด รวมถึงการแยกกักผู้ป่วยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ระยะต่อไป และ 4.โครงการการใช้ยาคลอโรควินเพื่อป้องกันและลดการแพร่เชื้อมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ ในพื้นที่ที่มีการระบาดบริเวณชายแดนไทย - เมียนมา
'หมอยง' ชี้คนไทยติดโควิดแล้ว 60-70% เร่งวิจัยหาตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า ปัจจุบันการระบาดของโรคโควิน 19 เป็นไปอย่างกว้างขวาง ไม่สามารถที่จะบันทึกจำนวนผู้ที่ติดเชื้อที่มีอาการและไม่มีอาการได้ ยอดผู้ป่วยที่ได้จดแจ้งจะน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ โดยเฉพาะในช่วง โอมิครอน มีการรายงานเฉพาะผู้ที่รับไว้ในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถบันทึกยอดผู้ป่วยที่ติดเชื้อจริง
จากการประเมินที่ได้มีการตรวจเลือดของสูงที่ผ่านมา น่าจะมีการติดเชื้อไปแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร หรือน่าจะอยู่ที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการศึกษาหาจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง กำลังดำเนินการอยู่โดยได้รับทุนวิจัยจากสวรส จะทำการศึกษาในกลุ่มประชากรตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยแบ่งกลุ่มต่างๆจำนวน 1200 คน ได้รับความร่วมมือ จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สํานักสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี โดยจะเริ่มทำการศึกษาในต้นเดือนตุลาคมนี้ และจะไปย้ายไปในจังหวัดอื่นๆทุกภาคของประเทศไทย โดยการตรวจเลือดหาร่องรอยการติดเชื้อหรือตรวจ antinucleocaosid และ anti spike IgG จะทำให้ทราบจํานวนผู้ติดเชื้อ และหรือมีการฉีดวัคซีนไปแล้วเท่าใด จากภาคสนาม
ระบบภูมิต้านทานต่างๆ จะสอดคล้องกับการป้องกันความรุนแรงของโรค เพื่อนำมาใช้ในการวางแผน ในมาตรการการป้องกันโรค covid-19 ของประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
ข้อมูลที่ได้นี้จะเป็นข้อมูลทางห้องปฏิบัติการ สะท้อนถึงระบาดวิทยาของประเทศไทย และจะเป็นรายงานแรกของประเทศไทยที่ทำในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ ในการสะท้อนเหตุการณ์ที่ผ่านมาถึง 3 ปี