‘ไตรศุลี’ ยืนยันรัฐบาลยังมีกฎหมายควบคุมการใช้ กัญชา กัญชง อย่างเหมาะสม แม้ร่างกฎหมายถูกสภาถอนออกจากวาระการประชุม ย้ำหากจำเป็น ‘อนุทิน’ ยังออกประกาศเพิ่มได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ถอน ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ออกจากวาระประชุม เพื่อให้ทบทวนร่างกฎหมายใหม่อีกครั้ง ทำให้เกิดกระแสความกังวลว่า จะไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาและกัญชงในช่วงเวลานี้ หรือที่เรียกกันว่าสุญญากาศ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลขอยืนยันว่าปัจจุบันมีกฎหมายที่ควบคุมการใช้กัญชา กัญชงให้เหมาะสมอย่างรอบด้าน โดยนับแต่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ ปลดล็อกให้ทุกส่วนออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ยกเว้นแต่เพียงสารสกัดจากกัญชาและกัญชงที่มีสาร THC เกินกว่า 0.2% ที่ยังถือเป็นยาเสพติดมีผลมาตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 65
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อควบคุมให้เกิดการใช้ให้เป็นไปตามนโยบาย ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อเศรษฐกิจ ไม่สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ อาทิ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 มีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.65 ควบคุมไม่ให้มีการ สูบ เสพในที่สาธารณะทุกประเภท หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุขฯ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.65 มุ่งกำกับให้มีการใช้กัญชาในฐานะพืชสมุนไพรควบคุมให้เป็นไปอย่างเหมาะสม จำกัดการครอบครองช่อดอกกัญชาทั้งระดับบุคคลและวิสาหกิจชุมชน มีการห้ามจำหน่ายกัญชาให้แก่ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่ให้นมบุตร หากฝ่าฝืนก็ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านการควบคุมการนำกัญชาไปประกอบอาหาร มีประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้สถานประกอบกิจการต้องควบคุม กำกับ และจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและการต้องตระหนักถึงความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ
ทางด้านผู้ประกอบการที่จะนำกัญชา กัญชงไปใช้ในกระบวนการผลิตเป็นสินค้า ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เวชภัณฑ์ หรือเครื่องสำอาง ก็ต้องมีการขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ
“แม้ร่างกฎหมายยังอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา แต่กฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้ก็จะควบคุมการใช้กัญชา กัญชง หรือหากมีกรณีใดที่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายมารองรับก็มี คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน สามารถพิจารณาออกประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ มาดูแลเพื่อให้เกิดความเหมาะสมเพิ่มเติมได้” น.ส.ไตรศุลี กล่าว