‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอสภาส่ง ครม.ทำประชามติ ตั้ง สรร.เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก่อนองค์ประชุมไม่ครบชั้นลงมติ ‘ศุภชัย โพธิ์สุ’ สั่งปิดประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2565 เวลา 13.00 น. พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 เพื่อสอบถามความเห็นประชาชนเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับใหม่
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา กล่าวว่า เนื่องด้วย รธน.ฉบับปัจจุบันถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็น รธน.จากคณะรัฐประหาร มีกระบวนการจัดทำประชามติที่ไม่เสรี ไม่เป็นธรรมตามมาตรฐานสากล มีการถดถอยทางประชาธิปไตย ปัญหาเหล่านี้ทำให้ประชาชนแสดงออกถึงการเรียกร้องให้มีการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ได้รับการตอบรับจากสมาชิกรัฐสภาทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือแม้แต่วุฒิสภา ดังจะเห็นได้จากรัฐสภามีมติโหวตรับหลักการร่าง รธน.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการริเริ่มกระบวนการเลือกตั้ง สสร. เมื่อปี 2563 อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำ รธน.แก้ไขเพิ่มเติม หากรัฐสภาจะแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ที่เป็นการยกร่างทั้งฉบับ จะต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน เป็นที่มาในการเสนอญัตติด่วนในครั้งนี้
“การจัดทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าจะเห็นชอบให้มีการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ผ่านกลไก สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่ และ ไม่ว่าสภาจะมีญัตติอย่างไร ก็สุดแล้วแต่ในที่ประชุม” นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเช่นเดียวกัน กล่าวว่า รธน.ฉบับปัจจุบันเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องของที่มา และกระบวนการ ทั้งนี้อำนาจในการสถาปนา รธน.เป็นของประชาชน การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณและใช้โอกาสในคราวเดียวกัน จึงเสนอให้มีการทำประชามติไปพร้อมกันกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังจะเกิดขึ้น
นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า รธน.ที่มีที่มาโดยไม่ชอบควรจะหมดอายุและล้มเลิกไปและควรจะมีการร่าง รธน.ฉบับใหม่ โดยตัวแทนของประชาชน เพื่อมี รธน.ที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แก้ไขข้อบกพร่องของ รธน.ปี 2560 เดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่ตอบสนองกับประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีคำถามคือ ประชาชนจะต้องตอบคำถามว่า เห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรจะต้องจัดทำ รธน.ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ฉบับปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายของ ส.ส.ไม่มีการอภิปรายคัดค้านแต่อย่างใด โดยหลายคนเห็นด้วยที่จะมีการทำประชามติไปในคราวเดียวกันกับการเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อประหยัดงบประมาณ ขณะที่บางฝ่ายเห็นว่า หากประชาชนไม่เห็นด้วย ก็อาจทำให้ไม่มีการเสนอแก้ ธน.อีกต่อไป
ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนลงมติ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธาน ได้นับองค์ประชุม จนกระทั่งเวลาผ่านไป 40 นาที มี ส.ส.มาแสดงตนเป็นองค์ประชุมเพียง 242 คน เท่ากับว่ามี ส.ส.เกินองค์ประชุมมาเพียง 6 คน
อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการลงมติ ปรากฏว่า มีผู้ลงมติเพียง 230 คน ซึ่งถือว่าผู้ลงมติไม่ครบองค์ประชุม แม้ว่าคะแนนการลงมติ จะมีผู้เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว 218 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายศุภชัย ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า การลงมติตามญัตติถือว่าเสร็จสิ้น โดยเสียงข้างมากเห็นด้วย แต่เกิดการโต้แย้งจาก ส.ส. เนื่องจากเห็นว่า แม้ว่าเสียงข้างมากจะเห็นด้วย แต่องค์ประชุมในการลงมติมีปัญหา หากส่งเรื่องไปยัง ครม. ก็จะมีปัญหา และไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ดังนั้นเมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ก็ควรที่จะปิดประชุม ซึ่งจะทำให้ญัตตินี้คาอยู่ในสภา และอาจมีการเลื่อนมาพิจารณาในวันที่ 16 ก.ย.นี้หรือถูกเลื่อนไปอยู่ลำดับแรกของสมัยประชุมหน้าช่วงเดือน พ.ย.
อย่างไรก็ดี การโต้แย้งจาก ส.ส.ยังไม่ได้ข้อสรุป ทำให้ นายศุภชัย กล่าวในตอนท้ายว่า “องค์ประชุมไม่ครบตอนลงคะแนน เราให้ลงมติ 2 รอบ องค์ประชุมก็ไม่ครบ เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ถือว่าการประชุมเดินต่อไม่ได้ ผมขอปิดการประชุมครับ”