ครม.เห็นชอบลดภาษีสรรพสามิต ‘ดีเซล’ อีก 2 เดือน คาดสูญรายได้ 2.1 หมื่นล้านบาท พร้อมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้ม อีก 9.4 พันล้าน ไฟเขียวขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 328-354 บาท/วัน มีผล 1 ต.ค.นี้
......................................
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านพลังงาน ได้แก่ การลดภาษีสรรพาสามิตน้ำมันดีเซล และมาตรการมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานแก่ประชาชนในด้านค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งจะทำให้ภาครัฐจะสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีรวม 21,436 ล้านบาท และสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการฯอีก 9,430.91 ล้านบาท หรือรวมแล้วรัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินรวม 30,866.91 ล้านบาท
นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 328-354 บาท/วัน หรือเพิ่มขึ้น 8-22 บาท/วัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ใช้ในยานพาหนะ ประมาณ 5 บาท/ลิตร เป็นเวลา 2 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย.2565 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าการลดภาษีดังกล่าวจะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีน้ำมันลดลงเดือนละ 1 หมื่นล้าน หรือรวม 2 หมื่นล้านบาท
“แม้ว่าภาครัฐจะขาดรายได้ไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลมองว่าจะช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทย ไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย”นายอนุชา กล่าว
นอกจากนี้ ครม.ได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เหลือ 0 บาท/ลิตร หรือไม่เก็บภาษีเลย ต่อไปอีก 6 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2565-15 มี.ค.2566 โดยกระทรวงการคลังคาดว่าการลดภาษีดังกล่าว จะทำให้รายได้การจัดเก็บภาษีลดลง 1,436 ล้านบาท แต่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าไม่สูงภาวะปกติ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้
@อนุมัติงบ 9.1 พันล้านช่วยค่า Ft-ขยายเวลาลด LPG
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบมาตรการมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานแก่ประชาชนในด้านค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ประกอบด้วย
1.ขยายเวลาให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในอัตรา 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ออกไปอีก 3 เดือน หรือตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.2565 จากเดิมที่มาตรการจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยการขยายระยะเวลาภายใต้มาตรการดังกล่าวจะใช้วงเงินประมาณ 302.5 ล้านบาท
2.มาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้า โดยจะช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กปน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กปภ.) และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ รวม 21.5 ล้านราย โดยมีระยะเวลาทั้งสิ้น 4 เดือน หรือตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 ซึ่งจะใช้วงเงินทั้งสิ้น 9,128.41 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้
กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง จะได้รับส่วนลดค่า Ft 92.04 สตางค์ต่อหน่วย ,กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-350 หน่วย/เดือน จะได้รับส่วนลดค่า Ft ในอัตรา 75% หรือ 51.50 สตางค์ต่อหน่วย ,กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 351-400 หน่วย/เดือน จะได้รับส่วนลดค่า Ft ในอัตรา 45% หรือ 30.90 สตางค์ต่อหน่วย , กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 401-500 หน่วย/เดือน จะได้รับส่วนลดค่า Ft ในอัตรา 15% หรือ 10.30 สตางค์ต่อหน่วย
@เห็นชอบปรับขึ้น ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ เป็นวันละ 328-354 บาท
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 328-354 บาท/วัน เพิ่มขึ้น 8-22 บาท/วัน ประกอบด้วย 9 ช่วง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป ได้แก่
1.ค่าจ้าง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต
2.ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
3.ค่าจ้าง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา
4.ค่าจ้าง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา
5.ค่าจ้าง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี
6.ค่าจ้าง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก
7.ค่าจ้าง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยาสุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี
8.ค่าจ้าง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร
9.ค่าจ้าง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี