ชาวบ้านตรวจสอบคดีไม่ได้แล้ว! ปปง.ไม่เปิดข้อมูล‘คำสั่งยึด/อายัดทรัพย์สิน’ผ่านหน้าเว็บไซต์ จนท.อ้างผู้บริหารสั่ง เหตุถูกร้องเรียน-กระทบส่วนบุคคล ผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ปลอมแปลงเรียกผลประโยชน์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการร้องเรียน กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้แก้ไขปรับปรุงเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. จากเดิมที่มีข้อมูล ‘ตรวจสอบคำสั่งยึด/อายัด’ ของคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ที่มีการเปิดเผยบนหน้าเว็บไซต์ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถติดตามข้อมูลคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินในคดีที่ ปปง.ยึดและอายัดทรัพย์สินของบุคคล นิติบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและคดีที่ศาลได้พิพากษาว่ากระทำความผิด ซึ่ง ปปง.ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายปี
ทว่าเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดยเมื่อคลิกเข้าไปที่ไอคอนได้ขึ้นข้อความ “ปิดปรับปรุงเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและระบบความปลอดภัยของข้อมูล”
ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ปปง.ได้ทำการปิดไอคอนดังกล่าวออกจากหน้าเว็บไซต์
สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ชี้แจงว่าได้รับคำสั่งจากผู้บริหารให้ปิดไอคอน ‘ตรวจสอบคำสั่งยึด/อายัด’ ด้วยเหตุผลสรุปว่า
1.ข้อมูลมติคำสั่งยึดอายัดดังกล่าวเป็นการรวบรวมมติคำสั่งตั้งแต่อดีตหลายปีมาแล้วจนถึงมติ/คำสั่งล่าสุดปี 2565 บางเรื่องคดีสิ้นสุดแล้วและผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด แต่คำสั่งยึด/อายัดยังค้างอยู่ในเว็บไซต์ทำให้ผู้ถูกคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินเหมือนถูกประจานให้ได้รับความเสียหาย
2.สำนักงาน ปปง.ได้รับการร้องเรียนว่ามีกลุ่มบุคคลผู้ไม่หวังดีนำเอกสารคำสั่งดังกล่าวที่เปิดเผยผ่านหน้าเว็บไซต์ ปปง.ไปแก้ไขปลอมแปลงใช้หลอกลวงประชาชนทั่วไปให้เกิดความเข้าใจผิดหลงเชื่อ เพื่อเรียกผลประโยชน์ตอบแทน ทำให้เกิดความเสียหาย
3. คำสั่งยึดอายัดบางคำสั่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ผู้บริหาร ปปง.มีคำสั่งให้หน่วยที่รับผิดชอบปิดไอคอนตรวจสอบ‘คำสั่งยึด/อายัดทรัพย์สิน’ไว้ก่อนจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
ขณะที่มีรายงานข่าวแจ้งว่า กรณีนี้ ปปง.สามารถแก้ไขปัญหาโดยกำหนดช่วงเวลาการเปิดเผยข้อมูล เหมือนกรณีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีที่กรอบระยะเวลาเปิดเผย 6 เดือน หรือตามสมควร โดยปิดทับข้อมูลส่วนบุคคลออกไป แม้ว่าสร้างภาระให้เจ้าหน้าที่ ปปง.ก็ตาม แต่เพื่อความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารขององค์กร ปปง. ให้มีการตรวจสอบได้