‘วัชระ เพชรทอง’ เปิดเอกสารสภา ‘ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์’ เคยทำงานใน กมธ.ยุค สนช.-ส.ว. รวม 4 คณะ มีประวัติร่วมเดินทางดูงานรัสเซีย-ฟินแลนด์ ระบุรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2565 นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยหนังสือตอบกลับจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หลังจากก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือขอให้เปิดเผยข้อมูลของ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม และ สิบตรีหญิง ปัทยา ศิริรัตน์ ว่าเป็นผู้ช่วยดำเนินงาน คณธทำงาน หรือตำแหน่งอื่นๆ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คนใด ตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด เงินเดือน ค่าเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับตามกฎหมายหรือระเบียบ และอยู่ในคณะกรรมาธิการชุดให ทั้งหมดกี่ชุด และเคยร่วมประชุมหรือร่วมเดินทงไปราชการภายในประเทศและต่างประเทศที่ไหนบ้าง
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้แจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในวงงานรัฐสภาของ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม และสิบตรีหญิง ปัทมา ศิริรัตน์ ในช่วงสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (31 ก.ค.2557 – 21 พ.ค.2562) และสมัยวุฒิสภา (11 พ.ค.2562 - 7 ก.ย.2565) โดยสรุปได้ดังนี้
กรณี ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ และค่าตอบแทน ไม่พบว่ามีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจําตัว , ผู้ชำนาญการประจำตัว และผู้ช่วยดำเนินงานของ สนช. แต่เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สนช. ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2561 (ไม่มีคำสั่งพ้นจากตำแหน่ง) โดยไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้กำหนดไว้ตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของ สนช. และกรรมาธิการของ สนช. พ.ศ.2557
ส่วนเรื่องการได้รับเบี้ยประชุม ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ 2 ครั้ง โดยไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม เคยร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานภายในประเทศ 2 ครั้ง ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย.2561 ที่ จ.เชียงราย (โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง) และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 4-6 มิ.ย.2561 จ.ระนอง (โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง)
นอกจากนี้ ยังไปศึกษาดูงานต่างประเทศ 1 ครั้ง คือ การร่วม เดินทางไปประชุมทวิภาคีที่สหพันธรัฐรัสเซีย - สาธารณรัฐฟินแลนด์ ระหว่างวันที่ 7-16 เม.ย.2561 (โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง)
ทั้งนี้ยังเคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สนช. ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2561 – 21 พ.ค.2562 ไม่มีคำสั่งพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากสิ้นสุดตามวาระของ สนช. โดย ได้รับค่าตอบแทนในอัตรา เดือนละ 4,500 บาท และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ โดยไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม
ส่วนสมัยวุฒิสภา (11 พ.ค.2562 – 7 ก.ย.2565) ไม่พบว่ามีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจําตัว , ผู้ชำนาญการประจำตัว และผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ว. แต่เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.2562 – 30 ก.ย.2563 ไม่มีคำสั่งพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากสิ้นสุดวาระตามปีงบประมาณได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 6,000 บาท
พบว่า เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ 4 ครั้ง โดยไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.2562 – 22 ส.ค.2565 ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้กำหนดไว้ตามระเบียบรัฐสภา และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการที่ จ.ระยอง ระหว่างวันที่ 13-14 ก.พ. 2563 (โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง)
นายวัชระ กล่าวอีกว่า ขอบคุณสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่ตอบหนังสืออย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน นับเป็นหน่วยราชการที่มีมาตรฐานเทียบเท่าหน่วยงานของรัฐที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะไม่พบในหน่วยงานราชการทั่วไปจากข้อมูลเบื้องต้นที่ส่งมา แม้ว่าจะบอกว่าไม่พบว่า ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ บัวแย้ม เป็นผู้ช่วย สนช.หรือ ส.ว.ท่านใด
อย่างไรก็ตาม นายวัชระ กล่าวย้ำอีกว่า ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาและเลขานุการหรือนักวิชาการ และมีเดินทางไปดูงานราชการต่างประเทศที่รัสเซียและฟินแลนด์ ระหว่างวันที่ 7-16 เม.ย.2561 ถ้าไม่ใช่บุคคลพิเศษจริงๆจะไม่ได้ไปเด็ดขาด จากนั้นต้องขอข้อมูลว่าหัวหน้าคณะเป็นใคร มีบุคคลร่วมคณะทั้งหมดกี่คน ใครเป็นคนเสนอชื่อให้ไป และเป็นผู้ติดตาม สนช.ท่านใดไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ ใช้งบประมาณเท่าไร ไปกับบริษัททัวร์ชื่ออะไร กลับมาแล้วทำรายงานพร้อมภาพถ่ายส่งประธาน สนช.อย่างไร คุ้มค่ากับงบประมาณนับล้านบาทที่เสียไปหรือไม่
ต่อมาใน สมัย ส.ว. ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เธอยังได้เดินทางไปราชการภายในประเทศ ทั้งที่ จ.เชียงราย จ.ระนอง จ.ระยอง แสดงว่ามีความสำคัญมาก ต้องดูรายชื่อคณะกรรมาธิการที่ร่วมเดินทางทั้งหมด และผลรายงาน ภาพถ่ายการเดินทางไปปฏิบัติราชการต่างจังหวัดด้วย ซึ่งต้องทำหนังสือขอให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเปิดเผยรายละเอียดต่อไป
นายวัชระ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ ได้สิทธิเดินทางไปราชการต่างประเทศนั้น ถ้าไม่ใช่บุคคลพิเศษของท่านผู้ทรงเกียรติจริง ๆ จะได้ไปหรือไม่ และต้องตรวจสอบข้อมูลการเดินทางต่อไป จากนี้จะทำหนังสือถึงเลขาธิการวุฒิสภาสั่งการให้ ผบ.กลุ่มงานตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้งหนึ่งในทุกประเด็นต่อไป อยากขอเตือนว่าการปกปิดทำลายข้อมูลหรือส่งข้อมูลเท็จอาจนำไปสู่ศาลอาญาคดีทุจริตได้