สธ.เผยโอไมครอน BA.5-BA.4 ครองไทยเกือบ 100% ชี้ภูมิคุ้มกันหมู่เพิ่มขึ้น ย้ำเข็มกระตุ้นยังจำเป็นโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 พร้อมเร่งศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนโควิด หากไม่ต่างมาก อาจไม่นำเข้ารุ่นใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยพบโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4-BA.5 เกือบ 100% แล้ว โดยพบ BA.5 มากกว่า BA.4 ถึง 6 เท่า ส่วน BA.2.75 พบประมาณ 13 ราย และยังไม่มีแนวโน้มเพิ่ม ในส่วนของ BA.4.6 ยังไม่พบในไทย โดยรวมสถานการณ์ของไทยคล้ายกับทั่วโลก และยังไม่เปลี่ยนไปจากช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้การตรวจหาภูมิคุ้มกันหมู่ในคนไทย (herd immunity) เพิ่มขึ้นอย่างไร และจะส่งผลให้คนบางกลุ่มไม่ต้องการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 4 เข็ม 5 หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้ 2 อย่าง คือ จากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และจากการฉีดวัคซีน แต่โดยหลักโรคไหนรุนแรงก็ไม่ปล่อยให้ติดเชื้อโดยธรรมชาติ โดยภาพรวมขณะนี้ถือว่าดีขึ้น อัตราการฉีดวัคซีน 2 เข็มอยู่ที่ประมาณ 70% และจำนวนหนึ่งน่าจะติดเชื้อไปแล้ว
จากข้อมูลกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจในบุคลากรส่วนกลาง 1,200 คน พบติดเชื้อ 400 คน ประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งก็เชื่อว่าคนไทยที่ติดเชื้อแล้วอาจไม่รู้ตัวหรือไม่ได้ตรวจน่าจะมีประมาณ 30-40% บวกกับการฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่มากพอทำให้การระบาดไม่มีปัญหาอะไร แต่สถานการณ์ดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ไม่มีการกลายพันธุ์
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า หากถามว่าไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะมีปัญหาอย่างไรนั้น แน่นอนว่ามีความเสี่ยงของการติดเชื้อ หรือรุนแรงอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะถอยไปศูนย์ เพียงแต่การสู้อาจไม่เพอร์เฟค แต่อย่างน้อยได้สัก 3 เข็มโอกาสเสียชีวิตจากโรคก็จะต่ำมากๆ แต่หากอยากได้แบบมีภูมิสูงๆ ก็ต้องกระตุ้นทุก 3-4 เดือน
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เมื่อภูมิคุ้มกันหมู่เพิ่มขึ้น มีกลุ่มที่ฉีดมาแล้ว 5 เข็ม ควรกระตุ้นเป็นเข็ม 6 อีกหรือไม่ เพราะส่วนหนึ่งต้องการรอวัคซีนรุ่นใหม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เรามีประสบการณ์พอสมควรเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด แน่นอนว่า ความเสียหายจากวัคซีนตรงไปตรงมาไม่ค่อยมี แต่จะมีผลข้างเคียงบ้าง
อย่างไรก็ตาม หากชั่งน้ำหนักว่าฉีดมาแล้ว 5 เข็ม ย่อมมีภูมิฯ ในระดับหนึ่ง และหากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ไม่ได้คลุกคลีกลุ่มเสี่ยงใดๆ ก็อาจจะรอดูสถานการณ์ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อด้วย เพราะหากเกิดการกลายพันธุ์และรุนแรงก็ต้องพิจารณาใหม่อีกครั้ง ซึ่ง ขณะนี้ กรมวิทย์ อยู่ระหว่างการตรวจภูมิฯ คนฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 และ กำลังจะทำเข็ม 4 ต่อไป
"กรณีวัคซีนรุ่นใหม่นั้น แม้ว่าจะมีข่าวว่ามีความพยายามอนุมัติให้ฉีดวัคซีนสายพันธุ์ที่ทันสมัยขึ้น คือ BA.1 แต่ในความจริงคนที่ติด BA.1 ก็สามารถติด BA.5 ได้ ตอนนี้จึงมีคำถามว่าวัคซีนที่ผลิตออกมาใหม่ มีความต่างจากเดิมมากแค่ไหน เพราะหากต่างกันไม่มาก อาจไม่คุ้มค่า ซึ่งเชื่อว่าวัคซีนไล่ไม่ทันสายพันธุ์ เช่น แม้วันนี้จะมี BA.5 มาขายแต่อีกไม่กี่เดือนก็มีไวรัสตัวใหม่อีก ทั้งนี้ ตนยังเชื่อว่า การปูพื้นด้วยวัคซีนเชื้อตาย ก็ไม่เสียเปล่า เป็นฐานที่ดีแล้วเมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยแพลตฟอร์มอื่นก็ช่วยกระตุ้นได้เยอะ" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า แม้จะมีวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ที่มีความทันสมัยขึ้น (วัคซีนรุ่น BA.1) แต่เท่าที่เห็นคนที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน BA.1 ยังสามารถติดเชื้อ BA.4-BA.5 ได้ ดังนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งถ้าประสิทธิภาพไม่ได้แตกต่างกันมาก ก็ยังไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อวัคซีนรุ่นใหม่เข้ามา และเชื่อว่าการพัฒนาวัคซีนคงตามไม่ทันโควิดสายพันธุ์ใหม่