สธ.เปิดผลตรวจภูมิคุ้มกันคนไทยปลูกฝีในอดีตเมื่อ 40 ปีที่แล้ว พบส่วนใหญ่ป้องกันฝีดาษลิงไม่ได้ ย้ำวัคซีนไม่ได้ฉีดทุกคน ต้องดูตามความจำเป็น-กลุ่มเสี่ยง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า หลังจากมีเคสฝีดาษวานรในประเทศไทย กรมมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำเชื้อมาเพาะทั้ง 2 สายพันธุ์ โดย 7 ราย มีทั้ง B.1 และ A.2 โดยส่วนใหญ่ A.2 ซึ่ง B.1 มีเพียง 1 ราย โดยสามารถเพาะเชื้อได้จำนวนมากพอที่จะทดสอบ
ส่วนการปลูกฝีดาษในอดีต จะแตกต่างจากฝีดาษวานร โดยฝีดาษวานร เกิดตั้งแต่ปี 2501 เกิดในลิง และจากนั้นในปี 2513 ข้ามมาติดในคน จากประเทศคองโก และเริ่มแพร่ระบาดในบริเวณแถบแอฟริกากลางและตะวันตก แต่ในปี 2563 พบมากขึ้นเรื่อยๆ กว่า 4,594 ราย เสียชีวิต 171
กระทั่งเดือน ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยสะสม 50327 ราย เสียชีวิต 15 ราย พบใน 100 ประเทศ เห็นได้ว่า อัตราการเสียชีวิตไม่มาก
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนฝีดาษวานรโดยตรง แต่ที่นำมาใช้คือวัคซีนฝีดาษคน ได้ผลประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อฝีดาษลิง 85% ปัจจุบันมีวัคซีนรุ่น 3 โดยขณะนี้สหรัฐและยุโรป อนุมัติให้ใช้ได้ วิธีฉีดมี 2 แบบ คือ ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง แทงให้เป็นตุ่มเหมือนเป็นถั่วเขียว อันนี้ใช้วัคซีนแค่ 0.1 มิลลิลิตร ส่วนอีกวิธีฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ทะลุหนังลงไปอยู่ในชั้นไขมันใช้วัคซีนครึ่งซีซี
สำหรับประเทศไทยกรมควบคุมโรคเป็นผู้จัดหา เบื้องต้นอยู่ประมาณ 1,000 โดส ฉีด 2 ครั้ง ฉีดได้ 500 คน ราคายังค่อนข้างสูง ซึ่งจะมีการแบ่งกลุ่มในการรับวัคซีนเป็น 2 กลุ่ม เช่นกลุ่มแรกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการที่อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ กับบุคคลทั่วไปที่มีประวัติเสี่ยง มีอาการ และสัมผัสผู้ติดเชื้อ ย้ำสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่ทุกคนต้องได้รับวัคซีนโรคฝีดาษเพราะอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ส่วนคำถามที่ต้องตอบว่า คนไทยที่ได้รับวัคซีนฝีดาษ หรือได้รับการปลูกฝีดาษในอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน แต่หลังจากปี 2523 จะไม่ได้มีการปลูกฝีดาษอีก เพราะขณะนั้นกวาดล้างฝีดาษหมดแล้ว
ทั้งนี้ กรมวิทย์ฯ จึงทำการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในคนที่ไดรับวัคซีนฝีดาษวานร โดยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) เป็นวิธีมาตรฐาน โดยนำน้ำเลือดมาจางลงเป็นเท่าๆ จนกระทั่งถึงจุดฆ่าเชื้อได้ครึ่งหนึ่ง หรือที่เรียกว่า PRNT 50% ส่วนจะออกมาเป็นไตเตอร์เท่าไหร่ก็จะเป็นตัวเลขเพื่อพิจารณาว่าได้ผลหรือไม่ โดยใช้เวลา 1 สัปดาห์
ที่ผ่านมา ได้หาอาสาสมัครมาดำเนินการแบ่งตามกลุ่มอายุ โดยแต่ละกลุ่มมี 10 คนในการศึกษา ตรวจทั้งสองสายพันธุ์ คือ B.1 และ A.2 โดยแบ่งเป็นอายุ 45-54 ปี อายุ 55-64 ปี อายุ 65-74 ปี อย่างไรก็ตาม ข้อมูล คือ ต้องมีระดับไตเตอร์ (titer) มากกว่า 32 จึงถือว่ามีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษวานรได้ ดังนั้น หากต่ำกว่า 32 แม้มีภูมิฯ แต่ไม่สูงพอจัดการได้
โดยผลตรวจพบว่า อายุ 45-54 ส่วนใหญ่ไม่มีภูมิฯ ขึ้นถึง 32 ขณะที่อายุ 55-64 ปี ภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างมาก มีเพียง 2 รายที่มีภูมิฯต่อ A.2 คือ 35 กับ 39 ซึ่งป้องกันได้ แต่ปริ่มๆ ส่วนอายุ 65-74 ปี ไม่มีใครถึงระดับ 32 เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังตรวจคนที่ติดเชื้อ เพราะเหมือนได้รับวัคซีนธรรมชาติ พบว่า ในกลุ่มนี้สายพันธุ์ A.2 โดยสายพันธุ์ B.1 เราไม่ได้นำมาวิเคราะห์โดยตรง ซึ่งพบว่า กลุ่มนี้มีภูมิฯต่อ A2 สูงมาก และเมื่อมาเทสกับ B.1 ป้องกันได้จำนวนหนึ่ง นี่คือหลักการธรรมชาติ แต่ไม่ได้ต้องการให้ไปติดเชื้อจะได้มีภูมิฯ ส่วนคนที่ไม่ได้รับวัคซีน เป็นเด็กรุ่นหลัง เรามาตรวจ 3 ราย พบว่า ไม่มีภูมิคุ้มกันใดๆ ทั้งสิ้น ภูมิฯขึ้นต่ำกว่า 4
"ในเรื่องของวัคซีนนั้น จะป้องกันได้ประมาณ 3-5 ปีกรณีฝีดาษ จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งคนปลูกฝีไม่ได้มีการถูกกระตุ้น เพราะฉีดครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม การนำวัคซีนมาป้องกันโรคนั้น ยังมีประเด็นว่า กรณีเพิ่งติดเชื้อ 2-3 วันสามารถให้วัคซีนฝีดาษได้เพื่อป้องกันความรุนแรงได้ ดังนั้น หากมีวัคซีนเข้ามาไทยก็จะใช้ 2 กรณี คือ กลุ่มเสี่ยงมากๆ เช่น เจ้าหน้าที่แลป คนสัมผัสใกล้ชิด แต่ในคนทั่วไปที่มีประวัติเสี่ยง ไปสัมผัสโรคก็อาจฉีดให้เพื่อลดความรุนแรง" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้คนทั่วไปหรือไม่ ว่า ยังไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมาก็ยังไม่พบป่วยมาก ขณะนี้ยังมี 7 ราย โอกาสแพร่กว้างขวางไม่มี และส่วนมากสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดคือ A.2 เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ไม่ค่อยรุนแรง อัตราการตายน้อยกว่า 5% ยกเว้นคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี กินยากดภูมิคุ้มกัน หรือเป็นโรคบางอย่างที่ทำให้ภูมิฯน้อย รวมทั้งเด็กเล็กๆ ก็อาจมีปัญหาได้
นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันวัคซีนฝีดาษวานรโดยตรงยังไม่มีใครทำ แต่วัคซีนที่นำมาใช้คือ วัคซีนฝีดาษคน แต่ฉีดแล้วข้ามกันฝีดาษวานรได้ เพราะเป็นตระกูลใกล้เคียงกัน ได้ผลประมาณ 85% ซึ่งถือว่าเพียงพอ และวัคซีนปลูกฝีก็ไม่มีแล้ว เพราะมีความเสี่ยงพอสมควร ขณะนี้จึงมีวัคซีนรุ่น 3
ขณะนี้สหรัฐและยุโรป อนุมัติให้ใช้ได้ วิธีฉีดมี 2 แบบ คือ ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง แทงให้เป็นตุ่มเหมือนเป็นถั่วเขียว อันนี้ใช้วัคซ๊นแค่ 0.1 มิลลิลิตร ส่วนอีกวิธีฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ทะลุหนังลงไปอยู่ในชั้นไขมันใช้วัคซีนครึ่งซีซี โดยประเทศไทยซื้อมา โดยกรมควบคุมโรคดำเนินงาน มีประมาณ 1 พันโดส ฉีด 2 ครั้ง ฉีดได้ 500 คน โดยจะฉีดใครอยู่ที่คณะกรรมการวิชาการตั้งหลักเกณฑ์
"สรุปคือ คนไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนฝีดาษวานรมานานกว่า 40 ปี จำนวน 28 ราย ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสฝีดาษลิง ทั้ง 2 สายพันธุ์ แต่มี 2 รายพบว่ามีระดับภูมิคุ้มกันที่ป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้หารือกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติและมหาวิทยาลัยบางแห่ง ได้ประสานขอเชื้อ เพื่อทำการวิจัยพัฒนาวัคซีนฝีดาษวานรโดยตรง ซึ่งกรมฯ สนับสนุน เพราะหากทำได้ก็เป็นผลงานของไทยเอง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา แต่ง่ายที่สุดน่าจะพัฒนาจากวัคซีนฝีดาษลิงชนิดเชื้อตาย ซึ่งน่าจะทำง่ายและเป็นแพลตฟอร์มคุ้นชิน" นพ.ศุภกิจ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่มีเก็บไว้ จำเป็นต้องใช้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยังไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะเป็นรุ่น 1 เมื่อนำมาฉีดจะมีแผลเป็น ซึ่งการฉีดวัคซีนฝีดาษคนในสมัยก่อนมีคนเสียชีวิตเยอะ แต่ตอนนี้อัตราเสียชีวิตน้อยมาก โดยเราต้องชั่งน้ำหนักของภาวะที่เกิดหลังรับวัคซีน
ด้าน ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กล่าวว่า สำหรับคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะทำอย่างไรนั้น อย่างที่นำเรียนว่า โรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย เพียงแต่ใช้มาตรการ Universal prevention ได้