'DSI' เรียก 6 ผู้ต้องหาจาก 8 ราย รับทราบข้อกล่าวหาคดีทุจริต ส.สวนปาล์ม กระบี่ เบื้องต้นยังให้การปฏิเสธ ด้านอัยการเผยมีให้การซัดทอดบุคคลเพิ่มจำนวนหนึ่ง-จ่อดำเนินคดีฟอกเงินด้วย
สืบเนื่องจากที่ปรากฎเป็นข่าวว่านายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ยึดอายัดโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มคลองท่อมกรรมสิทธิ์ของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่มูลค่ารวมกว่า 500 ล้านบาทและส่งหมายเรียกผู้ต้องหาคดีทุจริตและยักยอกทรัพย์ในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ซึ่งมีผู้ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 20,000 ครัวเรือน มีมูลค่าความเสียหายโดยรวมจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท มารับทราบข้อกล่าวหานั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าล่าสุด ในช่วงวันที่ 1-2 ก.ย. ที่กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กัพนักงานสอบสวนได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาชุดแรก จำนวน 6 รายจาก 8 ราย ให้มารับทราบข้อกล่าวหา กรณีชุมนุมสหกรณ์เกิดปัญหาการบริหารจัดการชุมนุม ผู้บริหารมีการทุจริตและส่งผลให้ชุมนุมสหกรณ์เสียหาย ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้บริหาร บริษัท กระบี่วิเศษ น้ำมันปาล์ม จำนวน 2 ราย (อดีตผู้บริหารชุมนุมสหกรณ์สวนปาล์ม ฯ ) ผู้จัดการใหญ่ชุมนุมสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการชุดที่ 19-22 และรองประธานกรรมการ ชุดที่ 22 โดยทั้งหมดเป็นบุคคลที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการ ได้ร่วมกันพิจารณาว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงานกิจการของชุมนุมสหกรณ์ฯ มีการกระทำโดยไม่ดูแลหรือจัดการทรัพย์สินของชุมนุมสหกรณ์ฯ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือผลประโยชน์ของสมาชิก และมีการดำเนินการขายโรงงานสาขาคลองท่อม ซึ่งเป็นทรัพย์สินของชุมนุมสหกรณ์ฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ บุคคลทั้ง 6 รายยังถูกแจ้งข้อหาในความผิด “เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆโดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน เป็นกรรมการผู้ลงมติให้สหกรณ์ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการได้กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆโดยทุจริต” ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 133/5,51/1,51/2
อย่างไรก็ตามผู้ต้องหาทุกรายให้การปฏิเสธ
ขณะที่ นายวัชรินทร์ ภานุรัตน์ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 2 สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุดที่ทำหน้าที่สอบสวนร่วมกล่าวว่า ผู้ต้องหาที่เข้ารับฟังข้อหาแต่ละคนไม่มีการพูดคุยกัน ไม่พบปะและมองหน้าที่ มีการให้การที่เป็นประโยชน์เฉพาะในส่วนของตนเองและมีการให้ซัดทอดบุคคลที่ร่วมกระบวนการจำนวนหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับกรณีที่ชุมนุมสหกรณ์ ฯ ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบุคคลอื่นเพิ่มเติมอีก 5 ราย ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และนอกจากนี้ ความผิดดังกล่าวยังเป็นคดีความผิดมูลฐานตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หาก สำนักงาน ปปง. เห็นพ้องกับความเห็นและพยานหลักฐานของ DSI อาจจะมีการดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในความฐาน “ฟอกเงิน” เพิ่มขึ้นอีก 1 ข้อหา และบุคคลที่โอนหรือรับโอนทรัพย์สินในระหว่างผู้กระทำความผิด เครือญาติ และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะถูกต้องดำเนินคล้ายๆกับผู้กระทำความผิดในการทุจริตของธนาคารกรุงไทย การทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่เป็นข่าวในหน้าสื่อมวลชนที่ผ่านมา
ส่วนนายสมชาย เทพจิตร ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 กันยายน 2565 นี้กรรมมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎรจะมีการประชุมพิจารณาเรื่องการแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มอีกครั้งและได้เชิญตนเข้าร่วมประชุมด้วย
"ที่ผ่านมาผมพอใจที่ สมาชิกสภาจังหวัดกระบี่ สามราย ออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำให้ผมมั่นใจว่าการแก้ปัญหาของชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่และสมาชิกชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ ที่มีส่วนได้เสีย จำนวน 53,312 ราย หรือ 53,312 ครอบครัว จะได้รับการแก้ปัญหาและได้รับควารมเป็นธรรมภายใต้การสั่งการของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมทั้งประธานกรรมาธิการและกรรมาธิการทุกราย" นายสมชายระบุ
อ่านประกอบ :