'ป.ป.ช.' แจงคดีกุนซือนายก อบจ.เชียงรายมีสองแนวทางยังไม่ชัดเจน เหตุศาลฎีกา-ศาลทุจริตภาคสองมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ออกหมายจับแล้ว เหตุเป็นประโยชน์ทางราชการ เผยปมร้อง ส.ว.ฝาก ส.ต.ท.เข้าเป็นตำรวจ ต้องมีข้อมูลให้แน่น ชี้ให้ชัดว่า ส.ว.เป็นใคร รับกฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช.ตีตกได้หากหลักฐานไม่ชัดเจน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่าเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงข่าวกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564- 31 ก.ค. 2565
ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการแถลงข่าวได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามในประเด็นที่สงสัยในประเด็นต่างๆ
โดยนายนิวัติไชยได้กล่าวถึงกรณีที่เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องนายศักดาพินิจ ณรงค์ชาติโสภณ หรือวชิรศักดิ์ พงษ์ชนินท์รัฐ การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ กรณีเข้ารับตําแหน่งและกรณีพ้นจากตําแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย วาระที่ 1 และวาระที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 เดือน พร้อมขอให้นับโทษผู้ถูกกล่าวหาต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 5337/2562 ของศาลฎีกา โดยกล่าวว่านายศักดิพินิจนั้นมีการยื่นทรัพย์สินเข้าหลายกรณี แต่ว่ามีกรณีหนึ่งที่ทาง ป.ป.ช.ได้ชี้มูลไปแล้ว
เมื่อถามต่อว่าจะแนวทางปฏิบัติเรื่องการนับเวลาที่หลบหนีหรือไม่ เพราะว่าถ้าหากมีการนับรวมเวลาที่หลบหนีนั้นก็เท่ากับว่าหมดอายุความไปแล้ว เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่าเรื่องนี้นั้นมีอยู่สองแนวทางโดยแนวทางแรกก็จะใช้แนวทางเดียวกับกรณีของนายสุนทร วิลาวัลย์ นายก อบจ.ปราจีนบุรี ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ออกหมายจับ ก็เป็นเรื่องที่ดินเหมือนกัน แต่อีกแนวหนึ่งมันก็เป็นแนวทางคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ว่าตามกำหมาย ป.ป.ช. ปี 2542 ฉบับแก้เพิ่มเติมปี 2554 มาตรา 74 ระบุว่าไม่นับอายุความเป็นต้น ปัญหาก็คือว่าถ้าเหตุมันเกิดก่อนหน้านั้น คือก่อนหน้าปี 2554 จะนำเอามาตรานี้มาใช้ได้หรือไม่ ซึ่งความเห็นของศาลฎีกามองว่าไม่สามารถนำมาใช้ได้
“อย่างไรก็ดีในวันนี้ ทางศาลคดีอาญาทุจริตภาค 2 เขารับคดีไว้พิจารณา ซึ่งแนวทางของป.ป.ช. ก็ต้องขอออกหมายจับไว้ก่อน เพื่อประโยชน์ของทางราชการ ส่วนศาลจะให้หรือไม่ให้ก็คือเรื่องของทางศาลทียังมีความเห็นไม่ตรงกัน” นายนิวัติไชยกล่าว
@ เผยมีผู้ร้องเรียนเรื่อง ส.ว.ฝาก 'นุช' เข้าทำงานตำรวจแล้ว
ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รายหนึ่งมีพฤติกรรมฝาก ส.ต.ท.กรศศิร์ หรือ นุช เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งล่าสุดปรากฎเป็นข่าวว่า มีการนำป้ายชื่อ ส.ว. อักษรนำหน้า ธ. และคุณกรศศิร์ บริจาคเงินในการสร้างศาลาอเนกประสงค์ร่วมกับญาติๆ เป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท ณ วัดแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี
โดยนายนิวัติไชยกล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าเรื่องนี้นั้นรู้สึกว่ามีผู้มาร้องกับทาง ป.ป.ช.สองรายแล้ว แต่ทาง ป.ป.ช.ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ ปัญหาก็คือว่าเมื่อมีการร้องแล้วก็มีการตัดข่าวจากสื่อมวลชนมาแปะ แต่ก็ต้องถามรายละเอียดว่ารู้ได้อย่างไรว่า ส.ว.นั้นเป็นคนนี้แน่นอน
“เพราะรายละเอียดที่ผมตรวจสอบนั้นก็ไม่ได้มีการระบุว่า ส.ว.คนนั้นคือใคร ท่านบอกว่ามันเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ต้องลงไปตรวจสอบ แต่ตรงนี้ก็ต้องอย่าลืมว่ากฎหมายนั้นก็เขียนไว้ด้วยเช่นกันว่าถ้าเบาะแสไม่ชัดเจน ป.ป.ช. มีสิทธิ์จะไม่รับก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะร้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบได้ตลอดเวลา” นายนิวัติไชยกล่าวและกล่าวว่าแต่ถ้าวันนี้มีข้อมูลโผล่มาอีกว่าน่าจะเป็นคนนี้หรือเปล่า ตรงนี้ ป.ป.ช.จะไปตามต่อเอง แต่ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงด้วย
เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวต่อไปว่าการดำเนินการเรื่องข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้นก็ต้องดูในสองประเด็นว่า ส.ว.นั้นไปมีหน้าที่ฝากส.ต.ท. หญิงคนนี้ให้เข้าไปทำงานเป็นข้าราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หรือไม่ ถ้าไม่มีหน้าที่ ก็ต้องไปดูเรื่องของการทำผิดจริยธรรมหรือไม่ และผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ ถ้าหากผิดจริยธรรมร้ายแรง ป.ป.ช. ก็สามารถที่จะร้องต่อไปยังศาลฎีกาเพื่อให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ แต่ถ้าไม่ร้ายแรงก็เป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะต้องไปดำเนินการ และประเด็นที่สองที่จะต้องติดตามก็คือ ส.ต.ท. คนนี้เข้าไปบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจได้อย่างไร เท่าที่ทราบขณะนี้ สตช. ก็กำลังตรวจสอบกันอยู่ หากมีการร้องเรียน ป.ป.ช. ว่า การบรรจุดังกล่าวเป็นการสอบเข้า หรือบรรจุเป็นกรณีพิเศษ หรือยกเว้นระเบียบวิธีปฏิบัติอย่างไร