'อนุทิน' จับตา 'ไข้หวัดมะเขือ' ระบาด หลังอินเดียพบเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี ติดเชื้อกว่า 100 ราย สั่งเตรียมแนวทางคัดกรอง-รักษา ด้านศูนย์จีโนมฯ แจงไม่ใช่ไวรัสชนิดใหม่ อาการคล้าย โรคมือ เท้า ปาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ประเทศอินเดียได้มีคำเตือนชาวอินเดียให้ระมัดระวังการระบาดของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) เนื่องจากได้พบผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบ ในรัฐเกรละ รัฐทมิฬนาฑู รัฐโอริสสา และรัฐหรยาณา ของอินเดีย รวมเกือบ 100 ราย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์การระบาดดังกล่าว แม้จะยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในไทย เป็นการป่วยจากไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งไม่ใช่ไวรัสใหม่ และอาการไม่รุนแรง
แต่ก็ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากขณะนี้ไทยได้เปิดประเทศรับผู้เดินทางจากทั่วโลก รวมถึงประเทศที่มีการระบาดของโรค จึงต้องประเมินสถานการณ์ เตรียมแนวทางการคัดกรองและรักษากรณีพบผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเบื้องต้นที่มีขณะนี้สถานการณ์ของโรคไม่น่ากังวล เนื่องจากเป็นการแพร่ระบาดยังอยู่ในวงจำกัด ขณะที่กระบวนการคัดครองและรักษาในประเทศก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการรักษาโรคมือเท้าปากในเด็ก ซึ่งปัจจุบันทั้งชุดตรวจคัดกรอง และยารักษา มีอยู่ในสถานพยาบาลในประเทศทุกระดับ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดขึ้นเป็นประจำในเด็กเล็ก และมักเกิดขึ้นมากในช่วงฤดูฝน อากาศเย็น และชื้น
ดังนั้นในช่วงฤดูฝนนี้ พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องให้ความระมัดระวังดูแลบุตรหลาน เนื่องจากเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมือเท้าปาก กระจายได้ง่ายจากการสัมผัส โดยเฉพาะการสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด หรือนำสิ่งของไม่สะอาดเข้าปาก
ทางด้าน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ในหัวข้อ ไข้หวัดมะเขือเทศ ที่กำลังระบาดในรัฐเกรละ ประเทศอินเดีย เกิดจากไวรัสชนิดใหม่ใช่หรือไม่? โดยระบุว่า
จากการถอดรหัสพันธุกรรมจากตุ่มแผลจากผู้ป่วยสองรายพบว่าเป็นไวรัส “คอกซากี A16 (Coxsackie A16)” ที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า และปาก (Hand, foot and mouth disease) มิใช่ไวรัสตัวใหม่แต่ประการใด
มีรายงานข่าวไปทั่วโลกกรณีกระทรวงสาธารณสุขอินเดียได้ออกมายืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อ “ไข้หวัดมะเขือเทศ” ในประเทศอินเดียตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 จนถึงขณะนี้พบแล้วถึง 82 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ พบการระบาดมากในรัฐเกรละ รองลงมาเป็น รัฐทมิฬนาฑู รัฐโอริสสา และรัฐหรยาณา
ที่มีชื่อเรียกว่า “ไข้หวัด มะเขือเทศ” เนื่องจากหากติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีผื่นแดงคล้ายมะเขือเทศ สร้างความเจ็บปวดให้กับร่างกาย โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ง่ายเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัส เช่น การสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด หรือนำสิ่งของเข้าปาก
แต่ปรากฏว่ามีเด็กหญิงอายุ 13 เดือนและพี่ชายอายุ 5 ขวบจากอังกฤษ บิดา มารดาได้พากลับไปเยี่ยมญาติที่อินเดีย เกิดมีผื่นขึ้นที่มือและขา เหมือนไข้หวัดมะเขือเทศ ใน 1 สัปดาห์หลังกลับจากรัฐเกรละ ประเทศอินเดียในเดือนพฤษภาคม 2022 ในระหว่างการเยือนอินเดียเป็นเวลา 1 เดือน ครอบครัวนี้ได้รับทราบจากสื่อท้องถิ่นในรัฐเกรละรายงานเกี่ยวกับอาการป่วยลึกลับในเด็ก ซึ่งถูกขนานนามว่า “ไข้หวัดมะเขือเทศ” พ่อแม่เด็กแจ้งว่าลูกของเขาได้เล่นกับเด็กอีกคนหนึ่งที่เพิ่งหายจาก “ไข้หวัดมะเขือเทศ” หนึ่งสัปดาห์ก่อนจะเดินทางกลับอังกฤษ
หลังจากกลับมาอังกฤษเด็กทั้งสองก็ป่วย มีอาการไข้ออกผื่น ลักษณะเดียวกับไข้หวัดมะเขือเทศ ดร. จูเลียน ถัง จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ในสหราชอาณาจักรและเพื่อนร่วมงานได้ทำการสวอปตุ่มน้ำ และลำคอไปตรวจ “PCR” พบว่าไม่ใช่ไวรัสฝีดาษลิง แต่เป็นไวรัสในกลุ่มของ “เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus)” ที่ก่อให้เกิด “โรคมือ เท้า ปาก” และจากการถอดรหัสพันธุกรรมพบว่าเป็นไวรัส “คอกซากี A16 ” โดยมีรหัสพันธุกรรมคล้ายกับคอกซากี A16 สายพันธุ์ที่ระบาดในจีน มิใช่ไวรัสชนิดใหม่ หรือสายพันธุ์ใหม่แต่ประการใด โดยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารการแพทย์
สรุปได้ว่า โรคอุบัติใหม่ที่เรียกว่า “ไข้หวัดมะเขือเทศ” ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กจำนวนหนึ่งในเมืองเกรละ ประเทศอินเดีย จากการถอดรหัสพันธุกรรมจากตุ่มแผลและลำคอจากเด็กเล็กสองคนพบว่าเป็นโรคมือ เท้า และปาก อันเกิดจากไวรัส “คอกซากี A16” ที่ระบาดในเด็ก มีอาการไม่รุนแรง โดยเป็นไปได้ว่าบางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อจากไวรัสชิคุนกุนยาและไวรัสไข้เลือดออกที่มียุงเป็นพาหะ
สำหรับชุดตรวจ PCR ในประเทศไทย” ต่อไวรัสที่ก่อโรคมือ เท้า และปาก มีให้บริการอยู่แล้วทั้งใน รพ. ภาครัฐ และเอกชน เนื่องจากโรคไข้ออกผื่นเกิดขึ้นเป็นประจำในเด็กเล็ก
หมายเหตุ โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth Disease) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส สายพันธุ์ที่พบบ่อยคือ คอกซากี (Coxsackie) และ เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) พบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน อากาศเย็น และชื้น ทำให้มีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก และสร้างความเจ็บปวด โดยผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมกับอาการป่วยอื่น ๆ ด้วย เช่น ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายป่วยภายในเวลาประมาณ 7-10 วันได้