ตำรวจ ปอศ. ประสาน ก.ล.ต.ตรวจสอบ 10 บริษัท สงสัยทำ ‘เหมืองทิพย์’ จดทะเบียนขุดเงินดิจิทัล แต่ไม่มีการทำจริง หวั่นนักลงทุนตกเป็นเหยื่อ - เสี่ยงเข้าข่ายปั่นหุ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2565 พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบก.ปอศ.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้เข้าดำเนินการตรวจสอบบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกอบกิจการเหมืองขุดเงินดิจิทัล หลังพบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
เบื้องต้นพบว่ามีอย่างน้อย 10 บริษัท ที่มีการเผยแพร่ข่าวสารหรือการให้ข้อมูลต่อประชาชนผ่านสำนักข่าวต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อราคาของหลักทรัพย์อย่างผิดปกติจากสภาพของตลาด หรือที่เรียกว่าปั่นหุ้น ทั้งในทางราคาขึ้น ราคาลง หรือราคาคงตัว โดยไม่ปรากฏการพัฒนาที่สำคัญของบริษัทจดทะเบียนแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับหลักทรัพย์ หากบริษัทจดทะเบียนฝ่าฝืนข้อบัญญัติของกฎหมาย ย่อมเป็นความผิดตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 โดยทาง บก.ปอศ. ได้ประสานงานส่งข้อมูลทั้ง 10 บริษัทให้กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการสืบสวน และตรวจสอบการกระทำผิดกรณีดังกล่าวต่อไป
“หากพบว่าเป็นความผิดตามที่ ปอศ. ตรวจสอบพบ ก.ล.ต. ก็สามารถเข้าร้องทุกข์กับตำรวจ เพื่อจัดการกับบริษัทที่อาจจะเรียกได้ว่าเหมืองทิพย์ หรือไม่มีการทำเหมืองจริงตามที่กล่าวอ้างนี้ได้ทันที” พล.ต.ต.พุฒิเดช กล่าว
พล.ต.ต.พุฒิเดช กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงปีที่ผ่านมา กระแสการลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก มูลค่าการซื้อขายต่อวันสูงหลักหลายร้อยล้านบาท พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) จึงสั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบ จนพบว่าเกิดการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล อาทิ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ต้องได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561
พล.ต.ต.พุฒิเดช กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น จากการตรวจสอบในเชิงลึก พบอีกว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นหลายบริษัทได้ประกาศแผนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เบื้องต้นพบว่ามีจำนวนประมาณ 25 บริษัท โดยมีรูปแบบแผนธุรกิจแตกต่างกันในรายละเอียด รูปแบบส่วนใหญ่ คือ การลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ (Bitcoin Mining) โดย บจ. ต่างๆ ได้ทยอยจัดซื้อเครื่องขุดสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) และอาจจะเป็นกระแสที่กระตุ้นราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นทำการปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่ในทางตรงกันข้าม นับตั้งแต่ต้นปี 2564 ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีบริษัทจดทะเบียนใด มีรายได้จากการลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม
“ในกรณีเมื่อพบว่าเป็นการกระทำความผิดว่าปั่นหุ้น หรือไม่มีเหมืองขุดเงินดิจิทัลอยู่จริงตามที่บริษัทโฆษณาไว้ ก็อาจจะมีผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนและสังคม ทาง บก.ปอศ. และ ก.ล.ต. จึงมีการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อกัน โดยการร่วมมือกันของทั้งสองหน่วยงาน จะทำให้กระบวนการสืบสวนและตรวจสอบมีความรวดเร็วและลดขั้นตอนของกระบวนการสืบหาพยานหลักฐาน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุนมีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับนักลงทุนในตลาดทุนโดยรวม” พล.ต.ต.พุฒิเดช กล่าว