‘ชลน่าน’ เตือน ‘ประยุทธ์’ อย่าคิดอยู่ยาว เสี่ยงเกิดวิกฤตการเมือง แนะทิ้งเก้าอี้ก่อน 23 ส.ค. เป็นผลดีกับประเทศ ลดความอึมครึม ชี้ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ยังไม่เหมาะเป็นนายกฯคนนอกในสถานการณ์นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2565 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตประเทศไทย บนเส้นทางประชาธิปไตย’ ที่จัดขึ้นในโครงการผู้นำฝ่ายค้านฯพบประชาชน ประจำปี 2565
นพ.ชลน่าน กล่าวตอนหนึ่งว่า ในวันที่ 23 ส.ค.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐฒนตรีครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นวาระสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องตัดสินใจใน 3 ทางเลือกสำคัญ คือ 1.ตัดสินใจออกไปด้วยตัวเอง ด้วยมโนธรรมสำนึกความรับผิดชอบ 2.ต้องออกตามอำนาจกฎหมาย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และ 3.ต้องออกไปด้วยอำนาจประชาชน ซึ่งอาจเกิดการขับไล่ และ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่มีแผ่นดินอยู่
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจประกาศสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเองก่อนที่จะถึงวันที่ 23 ส.ค. เกียรติยศเกียรติภูมิของนายกรัฐมนตรีไทยจะยังได้รับการยกย่อง ซึ่งอาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศ เพราะจะช่วยลดความอึมครึมไม่ชัดเจนในทางการเมือง และที่สำคัญ คือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ คิดที่จะอยู่ยาวก็จะเกิดการผูกขาดการใช้อำนาจทางการเมือง ซึ่งจะก่อวิกฤตทางการเมืองขึ้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นวันนี้เราจึงจำเป็นจะต้องหาทางออกให้ประเทศร่วมกัน แล้วช่วยกันส่งสัญญาณโดยตรงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนกล่าวปาฐกถาพิเศษว่า หากนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยหลักแล้วพรรคเพื่อไทย ต้องส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไปสู้ ซึ่งปัจจุบัน 2 จาก 3 รายชื่อมีภารกิจอื่นไปแล้ว แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจึงเหลือเพียง นายชัยเกษม นิติศิริ
ส่วนการเสนอชื่อนายกรัฐนตรีคนนอกนั้น จะเป็นใครก็ได้รวมถึง ส.ส. เมื่อเสียงที่เลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชีไม่ถึง 365 เสียง ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เสนอชื่อคนนอกบัญชีตาม ม.272 หากเลือกได้ก็จบ แต่หากเลือกไม่ได้ก็เข้าสู่กระบวนการเลือกใหม่จนหมดวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566 อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ปรึกษาหารือชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก เพราะว่ายังมีคนในบัญชี
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ยังไม่เหมาะในสถานการณ์ตอนนี้ รวมถึงการเสนอชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ใช่หน้าที่ของพรรคเพื่อไทยในการเสนอ
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า คำร้องที่ฝ่ายค้านได้ส่งให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาเพื่อให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความการเป็นนายกรัฐมนตรี ครบรอบ 8 ปีนั้น มี 2 เรื่อง คือ ขอให้ศาลวินิจฉัยความเป็นนายกของ พล.อ.ประยุทธ์ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากในวันพรุ่งนี้ (22 ส.ค.) ถ้ามีหนังสือออกจากสภาเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยปกติศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมทุกวันพุธ ก็คือ วันที่ 24 ส.ค.ก็อาจจะมีการตั้งองค์คณะที่จะมาช่วยพิจารณารับคำร้องหรือไม่ แต่คำร้องของฝ่ายค้านมีคำร้องที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยก็อาจจะประชุมทั้งองค์คณะ ซึ่งก็จะรู้วันนั้น
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านยังเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ยุบสภาใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน ระบุว่า การยุบสภาช่วงนี้มีแต่โทษ ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับประเทศ ส่วนตัวมองว่า ข้ออ้างในการยุบสภาก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะสาเหตุที่อ้างได้คือจะต้องมีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เช่น การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในวันที่ 23 ส.ค.ไม่ผ่าน ก็เหมาะสมเลย
เมื่อถามว่า แล้วมีสิทธิที่ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จะไม่ผ่านการพิจารณาหรือไม่ นพ.ชลน่าน หัวเราะก่อนจะตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ในประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะหากเสียงข้างมากถูกบัญชาการให้ใช้ช่องทางนี้ อะไรก็เป็นไปได้ทั้งหมด เป็นเหตุผลที่สมเหตุสมผลที่สุด ส่วนเหตุผลอื่นที่ต้องการให้ตัวเองอยู่ในอำนาจได้ยาวนั้น เป็นเหตุผลอันตราย เพราะสิ่งที่เราเป็นห่วงคือ การอยู่ในตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี จะไปสอดรับกับจุดมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ชัดเจนว่า อยู่ยาวเกิน 8 ปี จะเกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมือง และจะเกิดวิกฤติทางการเมือง เราไม่อยากให้เกิดแบบนั้น ดังนั้นการยุบสภาช่วงนี้ หากเพื่อให้ตัวเองรักษาอำนาจและรักษาการได้ ข้อถกเถียงก็คือ จะมีกฎหมายเลือกตั้งมาใช้ในการเลือกตั้งหรือไม่เพราะกฎหมายยังไม่ออก อีกทั้งการออก พ.ร.ก.เลือกตั้งนั้น การบังคับใช้จะไม่เหมือน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.