'อนุพงษ์ เผ่าจินดา' มท.1 ชี้ได้คนดีทำงาน ไร้กังวลเรื่องโกง ดึง AI เสริมระบบ ยันแก้คอร์รัปชันมีระบุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ-ปฏิรูปประเทศ ด้านปลัดมหาดไทย ชี้ข้าราชการส่วนมากต้องสอบเข้ามีระบบคัดกรอบคุณธรรมอยู่แล้ว เผยใช้ AI สกรีนเรื่องร้องเรียน - อปท.ถูกร้องเรียนทุจริตกว่า 2,000 เรื่อง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวตอนหนึ่งในงานเวทีเสวนาออนไลน์ ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำ...กับการปราบโกง’ ว่า ปัญหาคอร์รัปชันถือเป็นปัญหาที่กระทบกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งกระทบต่อไปยังประชาชน เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
"กรอบที่รัฐบาลวางไว้ในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันมี 3 กรอบ คือ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ และแผนแม่บท ทั้ง 3 กรอบมีความคล้ายคลึงกัน โดยยุทธศาสตร์ชาติจะพูดถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ข้าราชการมีคุณธรรมจริยธรรม ส่วนการปราบปรามจะเป็นการลงโทษโดยกฎหมายและทางวินัยราชการ โดยจะมีระยะเวลากำหนดไว้ ส่วนแผนแม่บทจะคล้ายๆกัน แต่จะเน้นทำให้ระบบต่างๆเกิดขึ้นมา เช่น การให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น, ระบบพัฒนาคน, ระบบลงโทษ เป็นต้น ขณะที่การปฏิรูป จะเน้นไปที่การพัฒนาระบบยุติธรรมและการป้องกันปราบปราม" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวย้ำว่า ทั้ง 3 กรอบคือจะมองว่า ประชาชน ข้าราชการ และกระบวนการป้องกันและปราบปราม ต้อมามีส่วนร่วม โดยมุ่งหวังให้ได้คนที่มีความรู้และความดี และต้องยึดหลักธรรมาภิบาลและหลักเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับกระทรวงมหาดไทยได้ตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามทุจริตไล่ตั้งแต่ระดับกระทรวงลงไปถึงกรม รัฐวิสาหกิจ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และจังหวัด โดยศูนย์มีหน้าที่ 3 ส่วน 1. ป้องกัน 2. ปราบปราม และ 3. ส่งเสริมคุ้มครองจริยธรรม
“ศูนย์จะลงไปถึงภูมิภาคจังหวัดต่างๆทุกหน่วยงานด้วย มีท่านปลัดเป็นผู้กำกับ มีแผนให้ข้าราชการเป็นคนดี ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมุ่งหวังว่า เมื่อทุกคนเป็นคนดี การทุจริตคอร์รัปชั่นจะไม่มี โดยเราจะใช้เครื่องมือตัวนี้ เพื่อให้ได้คนดีเข้ามา เมื่อตั้งคนดีมีอำนาจหน้าที่ การคอร์รัปชั่นก็จะหมดไป” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมีความเชื่อว่า ถ้าจะไม่มีการโกง จะต้องได้คนดี ไม่เพียงตัวคนดีเท่านั้น แต่เชื่อว่า หน่วยงานที่ทำงานและผู้ใต้บังคับบัญชาจะต้องดีด้วย และไม่ปล่อยให้คนไม่ดีเจริญก้าวหน้าได้ ดังนั้น เรื่องแรกที่สำคัญคือ การทำให้ข้าราชการเป็นคนดี ทุกหน่วยงานทั้งรัฐและวิสาหกิจ ถ้าทำให้ได้คนดีและอบรมให้มีจริยธรรมคุณธรรม พวกเขาจะยึดธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจพอเพียง
"หลักการที่ ACT อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็มีอยู่ในแผน มั่นใจว่าถ้าแผน 2 ส่วนนี้เริ่มทำงาน ก็มั่นใจได้ว่า ความโปร่งใสและการปราบโกงจะเกิดขึ้นจริง กระทรวงมหาดไทยจะมุ่งมั่นตามแนวทางนี้"
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนในรายละเอียดที่หน่วยงานไหนผ่านการประเมินอย่างไร คงต้องให้นายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ประเมิน แต่ในภาพรวมของกระทรวงมหาดไทยนั้น ต้องเรียนว่ากระทรวงมหาดไทยมีความใกล้ชืดกับประชาชนมากกว่าหน่วยอื่น มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) 7,850 แห่ง มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน 70,000 หมู่บ้าน สำนักงานกรมที่ดิน 461 แห่ง และสำนักงานทะเบียนราษฎรอีก 2,000 แห่ง
"ภาพรวมใน 3 ปีที่ผ่านมาในด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมีแนวโน้มน้อยลง ในปี 2562 มีเรื่องร้องเรียน 970 เรื่อง ปี 2563 เหลือ 700 กว่าเรื่อง และปี 2564 ลดลงอีกประมาณต้นๆ 700 เรื่อง ส่วนในเรื่องการลงโทษตั้งแต่ปี 2557-2562 ลงโทษไปแล้ว 1,200 ราย" พล.อ.อนุพงษ์กล่าวทิ้งท้าย
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
@ ข้าราชการมีระบบคัดกรองอยู่แล้ว
ขณะที่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในงานเสวนาเดียวกันว่า ข้าราชการส่วนใหญ่สอบแข่งขันเข้ามาตามระบบคุณธรรมและมีระบบที่ฝึกอบรมให้มีความเข้าใจถึงระเบียบวินัยและหน้าที่ตมกฎหมาย และมีผู้บังคับบัญชาคอยเตือนและควบคุม ซึ่งระเบียบวินัยที่กำหนดก็เคร่งครัดและละเอียดอ่อนไหวกว่ากฎหมายอาญามาก แม้แต่เรื่องความประพฤติก็ควบคุมลงลึกด้วย
"กระทรวงมหาดไทยส่งเสริมเรื่องคุณธรรมจริยธรรม โดยเพิ่งแรงจูงใจ เช่น การให้รางวัลกับข้าราชการที่ประพฤติตนอยู่ในความดีและซื่อสัตย์ รวมถึงให้รางวัลด้านความก้าวหน้าในการทำงาน และอีกด้านหนึ่งก็มีมาตรการลงโทษด้วย"
"ขณะเดียวกัน องค์กรอิสระก็ติดตามประเมินผลด้านการทุจริตทุกปี อย่างในปี 2565 ก็ได้คะแนนความโปร่งใสสูงขึ้นที่ 96.11 คะแนน และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ รัฐมนตรีสั่งการข้าราชการฝ่ายประจำต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำงาน ต้องผ่านการร่วมคิดร่วมทำ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างทุกจังหวัดมีองค์กร Strong เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งการตรวจรับ จัดซื้อจัดจ้าง หรือการเข้ามาทำแผนพัฒนาระดับอำเภอและจังหวัด"
"เหล่านี้ พอยืนยันได้ว่า ข้าราชการอยู่ๆจะคิดสั้นเอาชีวิตมาทิ้งทั้งที่อายุราชการถึง 60 ปี คงไม่มีอีก เพราะหากทำผิดจะถูกลงโทษตามระเบียบวินัยทั้งไล่ออก หรือการลงโทษตามขั้นตอน ก็จะกระทบไปถึงครอบครัว และข้าราชการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีต้องการให้ข้าราชการมีความเข้มแข็งทางจิตใจ โดยให้ข้าราชการรำลึกว่า เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน"
@ คลองหลอดไฮเทค ดึง AI คัดกรองเรื่องร้องเรียน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนในเชิงระบบ รัฐมนตรีให้ทำระบบติดตามประเมินผล โดยใช้ระบบ AI เข้ามาช่วย ทั้งงานนโยบาย ติดตามความก้าวหน้า และงานในศูนย์ดำรงธรรมที่ประชาชนสามารถร้องเรียนมาได้ 24 ชม. ซึ่งระบบ AI จะประเมินลงลึกถึงจังหวัดแต่ละจังหวัด ซึ่งระบบที่วางไว้ไม่ใช่รอให้ระบบมันเตือนหรือให้เรื่องมาถึง กระทรวงมีผู้ตรวจราชการทั้งระดับกรมและกระทรวง ผู้ตรวจเหล่านี้จะเป็นสายลับสืบหาข้อเท็จจริงและคอยแจ้งผู้บบังคับบัญชารับทราบข้อมูล เพื่อเตือนและคุยกันไม่ให้ปัญหาลุกลาม
อย่างไรก็ตาม กระบวนการลงโทษแม้จะไม่มีการช่วยเหลือกัน แต่ก็ต้องทำตามกฎหมาย ไล่ตั้งแต่ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง สอบวินัย และไปถึงการลงโทษในลำดับต่อไป ซึ่งก็ต้องใช้เวลา แต่ก็จะพยายามทำให้เร็วขึ้น และจะกันตัวผู้ถูกร้องเรียนไม่ให้เข้าไปยุ่งกับพื้นที่ที่ถูกร้องเรียน ยืนยันว่ากระทรวงมหาดไทยประเมิน 360 องศา ดูรอบด้าน ฟังทุกคน เมื่อมีเหตุก็ตักเตือนก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องเข้ากระบวนการลงโทษแล้ว ขอให้ประชาชนสบายใจได้ หากมีอะไรแจ้งผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชม.
“ทั้งหลายทั้งปวงเป็นองค์ประกอบว่า ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยปัจจุบันเป็นข้าราชการที่มีจิตสำนึก มุ่งมั่นในความสุจริต ตั้งใจทำงานให้ประชาชน นอกจากนี้ในอำเภอและจังหวัดมีการสร้างทีมเครือข่ายประชาชน อำเภอละ 100 คน เพื่อให้ผู้ว่าจังหวัดสบายใจว่า นายอำเภอจะทำงานโดยร่วมคิด ทำ และรับผิดชอบกับประชาชน ทั้ง 100 คนเป็นคนมีปากมีเสียง ไม่ได้เอาใครก็ได้มา ขอให้สบายใจได้ เราคิดถึงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการแต่งตั้งโยกย้าย รัฐมนตรีให้นโยบายแล้วว่า ให้่ดำเนินการตามระบบคุณธรรม ดูความประพฤติ ความรู้ ความสามารถและเรื่องราวในอดีต ทุกอย่างเราเอามาคิด และมั่นใจว่ากระทรวงมหาดไทยภายใต้การนำของ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นมหาดไทยที่โปร่งใสไว้ใจได้” ปลัดมหาดไทยระบุ
สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
8 ปี ‘ท้องถิ่น’ พบร้องเรียน 2,000 เรื่อง
ขณะที่นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ข้าราชการท้องถิ่นแม้จะถูกมองว่าไกลหูไกลตา แต่จริงๆแล้วใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่มากกว่า เพราะส่วนมากมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และมีการกำกับดูแลโดยภาครัฐส่วนกลาง ภูมิภาคและองค์กรอิสระทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
"ส่วนข้อกังวลเรื่องการใช้จ่าย งบประมาณรวมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีวงเงินรวมทั้งประเทศ 600,000 ล้านบาท ที่อาจจะรั่วไหลหรืออาจจะใช้อำนาจตามอำเภอใจ ยืนยันว่า กระทรวงมหาดไทยออกแบบการใช้งบประมาณในท้องถิ่นแล้ว ไม่สามารถใช้ได้ตามอำเภอใจของผู้บริหารและสภาในท้องที่ จะต้องใช้งานตามแผนพัฒนาตำบลที่มาจากประชาคมหมู่บ้านของประชาชนที่ร่วมกันโหวตว่า จะใช้งบประมาณนี้อย่างไร จากนั้นผู้ว่าจังหวัดจะตรวจสอบในขั้นสุดท้ายก่อนจะมีการอนุมัติต่อไป"
นายศิริวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ขณะการจัดซื้อจัดจ้าง ทุกอย่างทำผ่านระบบออนไลน์ของกรมบัญชีกลาง ไม่มีการทำจัดซื้อจัดจ้างย้อนหลังอีกต่อไปแล้ว ด้านการป้องปราม ที่ผ่านมามีการร้องเรียนทั้งผ่านผู้ว่าจังหวัดและป.ป.ช. ตั้งแต่ปี 2557-2565 มีเรื่องร้องเรียนทุจริต 2,000 เรื่อง แบ่งเป็นการทุจริตจริงๆ 500 เรื่อง, การไม่ปฏิบัติตามแผน 500 เรื่อง และอีก 1,000 เรื่อง เป็นเรื่องเชิงพฤติกรรม เช่น มีส่วนได้เสียหรือเข้าข่ายการทุจริต เป็นต้น
“เมื่อมีการลงโทษแล้ว จะมีหนังสือเวียนแจ้งให้ทราบว่า ไม่ควรประพฤติพฤติกรรมแบบนี้อีก โดยตัวเลขการสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง มีสั่งไปแล้ว 440 คน เป็น ป.ป.ช.ชี้มูล 300 คน , ผ่านการกระบวนการของผู้ว่าจังหวัด 134 คน ส่วนฝั่งข้าราชการ มีจำนวน 804 คนที่ถูกไล่ออกจากราชการ ถูกเรียกรับผิดทางละเมิดและทางแพ่ง 647 แห่ง คืนมาแล้ว 1,200 ล้านบาท ซึ่งจากที่รัฐมนตรีกล่าวว่า อปท.มี 7,800 กว่าแห่ง ก็เท่ากับว่ามีการชี้มูลเพียง 10% เท่านั้น แต่เราก็จะดำเนินการป้องกันการทุจริตต่อไป” รองอธิบดีกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นระบุ
ศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น