ปอศ.รวบ 4 นอมินี เปิดบริษัทเลี่ยงภาษี ทำรัฐฯ สูญเสียมูลค่า 100 ล้าน เจ้าตัวอ้างถูกถูกเพื่อนบ้านและผู้มีพระคุณนำบัตรประชาชนไปใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2565 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. , พ.ต.อ.ธรรมปพน ชาวกำแพง ผกก.2 บก.ปอศ.จับกุม นายมนูญ สงวนนามสกุล อายุ 69 ปี น.ส.อัญชลี สงวนนามสกุล อายุ 60ปี นายอรัญ สงวนนามสกุล อายุ 51ปี และนางธัญญรัตน์ สงวนนามสกุล อายุ 46 ปี ในฐานความผิด 'ร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน, ร่วมกันออกใบกำกับภาษีใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิจะออก' อันเป็นความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 90/4 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
สืบเนื่องจาก เจ้าพนักงานประเมินกรมสรรพากร ได้ตรวจสภาพกิจการและตรวจประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัท รุ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งจดทะเบียนกิจการประเภทการขายส่ง - ขายปลีก วัสดุก่อสร้างทุกชนิด รับเหมาก่อสร้างและปรึกษา กิจการ ประดับยนต์ อะไหล่รถยนต์และอุปกรณ์ ขายส่ง - ขายปลีก เครื่องอุปโภคบริโภค น้ำมันพืช มีทุนจดทะเบียน 1,000,000.00 บาท
แต่จากการตรวจสอบพบว่าเป็นเพียงบ้านพักอาศัย ลักษณะเป็นบ้านทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น มีสภาพเก่า ประตูปิดล็อคไว้ ไม่พบสินค้า และไม่พบการประกอบกิจการของบริษัทตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้
ต่อมากองตรวจสอบภาษีกลางได้ประกาศรายชื่อ บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งพบว่า บริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับทำบัญชี ออกใบกำกับภาษีเท็จให้กับกลุ่มลูกค้าที่ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ โดยมีกรรมการบริษัทคือ น.ส.รุ่งโสภา สงวนนามสกุล (เสียชีวิตแล้ว) และนายมนูญ ผู้จัดตั้งบริษัท ต่อมาได้เปลี่ยนกรรมการบริษัททั้งหมดมาเป็น น.ส.อัญชลี นายอรัญ และนางธัญญรัตน์ จึงได้ทำการจับกุมทั้งหมด
จากการสอบสวนให้การรับสารภาพว่า มีเพื่อนบ้านและผู้มีบุญคุณที่ให้ที่พักอาศัยขอบัตรประจำตัวประชาชนไปใช้ โดยไม่ได้แจ้งวัตถุประสงค์และไม่มีค่าตอบแทน และมาทราบภายหลังว่าตนนั้นถูกออกหมายจับเป็นผู้ต้องหาของคดีดังกล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานว่า บริษัท รุ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ประกอบกับเมื่อบริษัทฯ ได้รับทราบการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินฯ แล้ว ละเว้นไม่ชำระภาษีอากรตามการประเมิน หรืออุทธรณ์คัดค้านการประเมิน หรือขอผ่อนชำระภาษีอากรตามหนังสือแจ้งการประเมินเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกรมสรรพากรแต่อย่างใด บริษัทฯ จึงมีความผิดฐานเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง การเสียภาษีอากร ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท อีกกระทงหนึ่ง
สำหรับมูลค่าความเสียหายจากภาครัฐที่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ จำนวนกว่า 40 ล้านบาท และหากบริษัทดังกล่าวผิดจริง อาจต้องเสียค่าปรับในอัตราอย่างสูงกว่า 100 ล้านบาท