รองโฆษกรัฐบาลเผย ธนาคารรัฐพร้อมตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน-ผู้ประกอบการ หลัง กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.75% ขณะที่ สบน.คาดสิ้นปีงบประมาณ 65 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 61.3%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี โดยมีผลทันที ว่า นโยบายรัฐบาลต้องการให้ธนาคารของรัฐตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และออกมาตราการที่จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อลดผลกระทบแก่ประชาชนและผู้ประกอบการจากมาตรการดังกล่าว
น.ส.รัชดา กล่าวย้ำว่า ธนาคารของรัฐหลายแห่งออกประกาศในเบื้องต้นที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด คาดว่าจะมีการตรึงถึงสิ้นปี 2565 ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามตลาด เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับธนาคารในการนำเงินไปปล่อยสินเชื่อ แต่ละธนาคารจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป ส่วน ธนาคารออมสิน ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน/6 เดือน 0.15% เงินฝากประจำ 12 เดือน 0.20% และเงินฝากประจำ 24 เดือน/36 เดือน 0.30% ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการออม และให้ประชาชนได้มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่กำลังเริ่มกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ในส่วนของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งมีบทบาทการค้ำประกันสินเชื่อ พร้อมเดินหน้าตามนโยบายรัฐ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างเต็มที่ ขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในโครงการ บสย.พร้อมช่วย ไปจนถึงสิ้นปี 2565 เป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แก้หนี้ยั่งยืน ให้ลูกหนี้สามารถประคองกิจการต่อไปได้ เน้นความยืดหยุ่นการชำระหนี้ 3 ระดับ ตามความสามารถในการชำระ คือ 1.ยืดหยุ่น โดยตัดเงินต้น 20% และตัดดอกเบี้ย 80% ระยะผ่อนชำระ 5 ปี 2.ผ่อนน้อย เบาแรง หนี้ลดหมดแน่นอน โดยเริ่มต้นชำระครั้งแรกเพียง 1% ของยอดหนี้ โดยนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด ส่วนวงเงินที่เหลือ ระยะผ่อนชำระ 5 ปี 3.ดอกเบี้ย 0% ชำระครั้งแรก 10% ซึ่งจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด ระยะผ่อนชำระ 7 ปี โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค.มีลูกหนี้ลงทะเบียนร่วมโครงการ 6,856 ราย มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว วงเงินกว่า 1,117 ล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยย่อมทำให้ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลสูงขึ้น แต่ด้วยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่ผ่านมามีแผนบริหารจัดการความเสี่ยงอยู่แล้ว จึงไม่มีประเด็นที่ต้องกังวล โดยได้ดำเนินการเปลี่ยนการกู้เงินระยะสั้นที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว (Float Rate) มาเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fix Rate) มากขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 82% ส่วนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นไม่มี เพราะรัฐบาลมีหนี้ต่างประเทศแค่ 1.8% และได้ทำการปิดความเสี่ยงไปหมดแล้ว
ส่วนปีงบประมาณ 2566 แผนการบริหารจัดการต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล จะเน้นกู้เงินผ่านการออกพันธบัตรระยะยาวจากปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 45% ปรับเพิ่มเป็น 48% การออกตั๋วสัญญาใช้เงินจะอยู่เท่าเดิมที่ 25% ขณะที่การออกตั๋วเงินคลังและการกู้เงินระยะสั้นจากตลาด จะลดลงมาอยู่ที่ 14% จากเดิมที่ 18%
ส่งผลให้ภาพรวมหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2565 สบน. รายงานว่า อยู่ที่ 61.06% ทั้งนี้ มีการคาดการณ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า สิ้นปีงบประมาณ 2565 นี้ หนี้สาธารณะต่อจีดีพี จะอยู่ที่ 62.69% แต่ด้วยปัจจุบันมูลค่าจีดีพีเพิ่มขึ้น และมีการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะทั้งหมด ทำให้คาดว่าภายในสิ้นปีงบประมาณ 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 61.3%
“การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. เป้าหมายเพื่อให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ และสอดคล้องกับสภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ธนาคารของรัฐตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพิจารณาออกมาตรการดูแลลูกหนี้ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการ ส่วนเรื่องต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมา ยังไม่มีประเด็นที่ต้องกังวล เพราะ สบน.มีการจัดการความเสี่ยงเรื่องการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย และแผนการบริหารต้นทุนกู้เงินไว้อยู่แล้ว” น.ส.รัชดา กล่าว