'อินโดนีเซีย' อ้างข้อมูลศูนย์จีโนมฯ เตือน ปชช.เฝ้าระวังโควิดโอไมครอน BA.4.6 หลังพบระบาดมากกว่า BA.2.75 53 เปอร์เซ็นต์ ชี้ไวรัสแพร่ไปแล้ว 43 ประเทศทั่วโลก ขณะ CDC สหรัฐฯ เฝ้าจับตาหลังพบระบาดง่ายกว่า BA.4 และ BA.5
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศว่า ที่ประเทศอินโดนีเซีย นักวิจัยได้อออกมาอธิบายถึงไวรัสโควิด-19 โอไมครอนสายพันธุ์ BA.4.6 ที่เพิ่งเกิดใหม่ว่าคาดว่าการเกิดขึ้นของไวรัสโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ดังนั้นขอให้ประชาชนยังคงระมัดระวังและไม่ละเลยต่อการปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข แต่อย่างไรก็ตามขอให้สาธารณชนอย่าได้วิตกกังวลกับการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่นี้จนเกินไป เพราะที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญก็คาดการณ์แล้วว่าเมื่อเวลาผ่านไป ก็จะต้องมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมา
ทางด้านของ นพ.จันทรา โยคะ อดิตามา ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินโดนีเซียได้ออกมากล่าวในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ว่าไวรัสโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 ที่ว่ามานั้นถูกตรวจพบแล้วกว่า 43 ประเทศทั่วโลก และคาดกันว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวนี้น่าจะเกิดขึ้นมาเมื่อช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนนี้เอง ซึ่งในเอเชียนั้นพบข้อมูลว่าโอไมครอน BA.4.6 นั้นมีศักยภาพในการติดเชื้อได้มากกว่า BA.5 ถึง 28 เปอร์เซ็นต์
นพ.จันทรากล่าวต่อไปว่าส่วนอัตราการแพร่เชื้อนั้นพบว่าสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 อยู่ที่ 53 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ BA.2.75 ซึ่งข้อมูลนี้อ้างอิงมาจากผลการวิจัยของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าอัตราการแพร่เชื้อของ BA.4.6 นั้นอาจจะสูงกว่าโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆที่มีก่อนหน้านี้
“BA.4.6 นั้นพบว่ามีอัตราการติดเชื้อมากกว่า BA.5 ที่ตอนนี้เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดบนโลกอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ มีศักยภาพในการติดต่อกันได้เหนือกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 อยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์ ในเอเชีย พบว่าไวรัสนี้อาจมีศักยภาพในการส่งต่อเชื้อได้มากกว่า BA.2.75 อยู่ที่ 53 เปอร์เซ็นต์” นพ.จันทรากล่าว
นพ.จันทรากล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับไวรัสโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 ที่ว่ามานี้นั้นพบว่าแทบจะเหมือนกับสายพันธุ์ย่อย BA.4 ทุกประการ จะมีส่วนที่แตกต่างกันก็คือการกลายพันธุ์ของส่วนหนามที่ยื่นออกมาในตำแหน่ง R346T
ขณะที่ทางด้านของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา หรือ CDC ระบุถึงการกลายพันธุ์ของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 นั้นพบว่าการระบาดง่ายและรวดเร็วกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ดังนั้นจึงเป็นเหตุทำให้มีการติดเชื้อซ้ำ และต้องเฝ้าจับตาต่อไป
เรียบเรียงจาก:https://nasional.kompas.com/read/2022/08/11/06114051/4-fakta-covid-19-subvarian-omicron-ba46