‘สุพจน์ ไข่มุกด์’ อดีตรองประธาน กรธ.เผยวาระนายกรัฐมนตรี 8 ปี ‘ประยุทธ์’ เริ่มต้นวันโปรดเกล้าฯ ตาม รธน.ปี 2560 แต่บทสรุปต้องฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนบันทึกการประชุมเป็นแค่ความเห็นคนสองคน ไม่ใช่มติ ยังฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด
จากกรณีมีการเผยแพร่เอกสารบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2561 ระบุประเด็นการพิจารณาตอนหนึ่งเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
บันทึกประชุมดังกล่าว ระบุว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ ได้สอบถามว่า ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2560 ประกาศใช้บังคับ สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตาม รธน.ปี 2560 หรือไม่
ขณะที่ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ รธน.ปี 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตาม รธน.ปี 2560 ด้วย
ต่อมานายมีชัย กล่าวว่า เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้ รธน.นี้เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่ง รธน.นี้ จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตาม รธน.นี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม” การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่ รธน.นี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตาม รธน.ปี 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2565 นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธาน กรธ.คนที่หนึ่ง ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นบันทึกการประชุมจะมีความหลากหลาย แต่ไม่ใช่มติ กรธ. ทั้งนี้ถ้าดูตาม รธน.ปี 2560 มาตรา 158 และ มาตรา 159 ก็มีขั้นตอนหลายวรรคหลายตอน จะไปเฉพาะเจาะจงตอนใดตอนหนึ่งไม่ได้ ส่วนที่จะบอกว่าจะนับตอนไหน ก็เห็นชัดอยู่แล้ว ต้องเป็นไปตาม รธน.ปัจจุบันที่มีขั้นตอน และรัฐสภาเลือกขึ้นมา ซึ่งรัฐสภาคือผู้แทนปวงชนชาวไทย
นายสุพจน์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นในความเห็นของตน ไม่เกี่ยวกับพรรคหนึ่งพรรคใด บันทึกการประชุมคราวนั้น พูดคุยกันยังไม่รู้เลยว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อกลายเป็นบุคคลท่านนี้ขึ้นมา ก็อาจจะคิดว่า ตนไปนิยมชมชื่นกับนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน แต่ถ้าดูตามกฎหมาย เป็นไปตามขั้นตอนของมัน ถ้าจะตีความตามหลักนิติศาสตร์ ก็จะชัดเจนเลย
เมื่อถามว่าจะเริ่มนับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ รธน.ปี 2560 มีผลบังคับใช้ คือเริ่มนับตั้งแต่ 6 เม.ย.2562 ถูกต้องหรือไม่ นายสุพจน์ กล่าวว่า “นับตั้งแต่วันที่โปรดเกล้าฯ ครับ แต่ทุกอย่างให้ฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อย่าฟังผมเป็นหลัก”
เมื่อถามอีกว่า การนับวาระ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่นับย้อนรวมสมัยเป็นนายกรัฐมนตรียุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดูย้อนแย้งกับบันทึกการประชุมดังกล่าวหรือไม่ นายสุพจน์ กล่าวว่า “นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่เป็นเพียงความเห็นเริ่มแรกของคนไม่กี่คน ไม่ใช่มติ กรธ. ส่วนมติก็อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งความเห็นนี้ใครๆ ก็สามารถไปเฉพาะเจาะจงออกมาได้ หากต้องการผลลัพธ์ประการใด ก็ไปตัดตรงนั้นออกมา”
เมื่อถามย้ำว่าบันทึกการประชุม กรธ.เป็นแค่ความเห็นเริ่มแรกแต่สุดท้ายเจตนารมณ์จะยึดอย่างไรต้องดูมติของ กรธ.ใช่หรือไม่ นายสุพจน์ กล่าวว่า “ใช่ อยากจะทำความเข้าใจคือเจตนารมณ์ไม่ใช่ของผู้ร่าง รธน.นะครับ ผู้ร่างอาจจะตายไปแล้วไม่รู้กี่คน แต่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย รธน. คำว่าผู้ร่าง ไม่ใช่แค่คนเดียว แต่เป็นองค์คณะ ก็ต้องดูเจตนารมณ์ของ รธน.”
เมื่อถามอีกว่าเจตนารมณ์จะต้องย้อนไปดูมติ กรธ.ใช่หรือไม่ นายสุพจน์ กล่าวว่า ใช่ เรามีหนังสือเล่มหนึ่งเรียกว่า ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สามารถไปขอดูในห้องสมุดมหาวิทยาลัยหรือสถานที่ต่างๆได้ มีหมดเลย ถ้าเราไปดูมาตรา 158 กับมาตรา 159 จะชัดเจนเลยว่ามีขั้นตอนของมัน รัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และมีการโปรดเกล้าฯ เป็นไปตามขั้นตอน รธน.ปี 2560
เมื่อถามย้ำว่า หากถามความเห็นทางวิชาการในนามส่วนตัว สามารถอ่านจากบันทึกการประชุมได้หรือไม่ นายสุพจน์ กล่าวว่า อันนั้นเป็นความเห็นเริ่มแรก ยังไม่ได้ฟังความเห็นคนอื่นเลย และยังมีความเห็นหลากหลายเยอะแยะไปหมดในบันทึกการประชุมนั้น
“ขอให้ยึดมติ กรธ.เป็นหลัก เราจะไปยึดสิ่งที่คนสองคนพูดมาตอนแรกๆ ยังฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียดหรอก แต่เขาจับเอามากระเดียดจนกลายเป็นประเด็น ก็ขอแก้ประเด็นนี้ด้วย และขอให้ไปฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” นายสุพจน์ กล่าว