‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษาเพิกถอนคำสั่ง ‘ก.คลัง’ ให้ ‘กองทุนคนพิการฯ’ นำส่งเงินเฉพาะส่วนที่เกินกว่า 1 พันล้าน เป็นรายได้แผ่นดิน ระบุเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
.................................
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้น โดยพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลัง โดยปลัดกระทรวงการคลัง ตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0406.2/ล.2973 ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 ที่กำหนดให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นำเงินส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน เฉพาะส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท โดยให้มีผลย้อนไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าว
“กรณีจึงรับฟังข้อเท็จจริงว่า การกำหนดให้กองทุนส่งเสริมหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเงินส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินไม่เกินจำนวน 1,000 ล้านบาท ย่อมไม่ถึงขนาดที่กองทุนต้องขาดสภาพคล่อง หรือส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีและคนพิการได้รับความเดือดร้อนดังที่ผู้ฟ้องคดีคาดการณ์ไปเองแต่อย่างใด
แต่หากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนำเงินส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินเกินกว่าจำนวน 1,000 ล้านบาทแล้ว อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนได้
และเมื่อเงินที่เกินกว่าสภาพคล่องของกองทุนมีจำนวนไม่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงการคลัง) โดยปลัดกระทรวงการคลังมีคำสั่งตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0406.2/ล.2973 ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 เรียกให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นำเงินสภาพคล่องส่วนที่เกินความจำเป็นของทุนหมุนเวียน ส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินจำนวน 2,000 ล้านบาท
ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดี คนพิการ และองค์กรคนพิการอาจต้องสูญเสียจากการขาดสภาพคล่องของกองทุน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุนตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้มีพื้นที่ในการปฏิบัติงานของศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ตลอดจนภารกิจตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทุน ส่งผลกระทบต่อกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเกินกว่าจะคาดหมายได้
กรณีจึงถือได้ว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงการคลัง) โดยปลัดกระทรวงการคลังมีคำสั่งตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0406.2/ล.2973 ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 กำหนดให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนำเงินสภาพคล่องส่วนที่เกินความจำเป็นของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินเฉพาะส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงการคลัง) โดยปลัดกระทรวงการคลังมีคำสั่งตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0406.2/ล.2973 ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 ที่กำหนดให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนำเงินสภาพคล่องส่วนที่เกินความจำเป็นของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินเฉพาะส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
และหากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) ซึ่งอยู่ในฐานะองค์การของรัฐบาลที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าว ย่อมไม่มีอำนาจนำเงินของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินได้…
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยปลัดกระทรวงการคลังมีคำสั่งตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0406.2/ล.2973 ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 ที่กำหนดให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนำเงินส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินเฉพาะส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 สำหรับคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย แต่ทั้งนี้ ศาลปกครองชั้นต้นไม่ได้กำหนดในคำพิพากษาให้การเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวมีผลเมื่อใด จึงสมควรกำหนดให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าว
พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยปลัดกระทรวงการคลังตามหนังสือกระทรวงการคลัง กค 0406.2/ล.2973 ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 ที่กำหนดให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนำเงินส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินเฉพาะส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท โดยให้มีผลย้อนไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น” คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อร.225/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อร.115/2565 ระบุ
สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดี (สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย) ฟ้องว่า กระทรวงการคลัง ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน มีคำสั่งตามหนังสือที่ กค 0406.2/ ล.2973 ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 กำหนดให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นำเงินสภาพคล่องส่วนที่เกินความจำเป็นของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน 2,000 ล้านบาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเงินสภาพคล่องส่วนที่เกินความจำเป็นของทุนหมุนเวียนมีแนวโน้มที่จะลดลง ไม่เพียงพอ ที่จะใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ลงวันที่ 4 ม.ค.2560 ขอให้ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ระงับการนำเงินดังกล่าวส่งคลังแล้ว และได้ทราบผลการพิจารณาเบื้องต้นว่า จะลดเงินนำส่งลงเหลือจำนวน 1,000 ล้านบาท แต่ผู้ฟ้องคดียังไม่เห็นพ้องด้วย เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลัง ที่กำหนดให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นำเงินส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินเฉพาะส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากศาลฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0406.2/ล.2973 กำหนดให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นำเงินสภาพคล่องส่วนที่เกินความจำเป็นของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินจำนวน 2,000 ล้านบาท นั้น ยังไม่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดจำนวนเงินสะสมสูงสุดและการนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายลำดับรองกำหนดหลักเกณฑ์กรณีดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0406.2/ล.2973 ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 กำหนดให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นำเงินส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินเฉพาะส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบและเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งอยู่ในฐานะองค์การของรัฐบาลที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ย่อมไม่มีอำนาจนำเงินของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท ส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน
ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด