สธ.เผยผู้ป่วยฝีดาษลิงในไทยยังพบ 4 ราย เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก A2 ย้ำไม่รุนแรง วอนอย่าวิตกกังวลไม่ได้ติดง่ายๆ ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสผลตรวจเป็นลบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสายพันธุ์ฝีดาษวานร (Monkeypox) ว่า ขณะนี้สายพันธุ์ที่พบทั่วโลกและประเทศไทย ยังคงเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก คือ B.1 กับ A.2 โดยข้อมูลที่มีรายงานประมาณ 30,000 ราย พบเป็น B.1 เป็นส่วนใหญ่
ส่วนประเทศไทยเพิ่งพบ 4 ราย จึงพบ A.2 มากกว่า โดย B.1 มี 1 ราย โดยในกรณีชายไนจีเรียที่พบรายแรก เป็นสายพันธุ์ A.2 ส่วนรายที่ 2 ชายไทยอายุ 47 ปี เป็น B.1 รายที่ 3 เป็นชายเยอรมนี เป็นสายพันธุ์ A2 และรายที่ 4 รายล่าสุดเป็นหญิงไทยพบสายพันธุ์ A.2 ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ที่ไม่รุนแรง ไม่ใช่สายพันธุ์คองโก
"ทั้ง 2 สายพันธุ์ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพราะเป็นสายพันธุ์ แอฟริกาตะวันตกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอาการจะไม่ค่อยรุนแรง อย่างข้อมูลทั่วโลกที่ป่วย 30,000 ราย เสียชีวิต 5 ราย และอีก 1 ราย ยังมีคำถามอยู่ กรณีที่เสียชีวิตนั้นส่วนใหญ่มาจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ บางรายอาการหนักโดยมีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมอยู่ด้วย" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ตอนนี้กรมวิทยาศาสตร์ฯ สามารถเพาะเชื้อฝีดาษวานรได้แล้ว ได้จำนวนไวรัสปริมาณมากพอสมควร สามารถเริ่มกระบวนการต่อไปได้เลย คือ เริ่มทดสอบคนที่เคยปลูกฝีดาษมาแล้ว โดยจะเอาเลือดมาทดสอบกับเชื้อฝีดาษวานรว่าจะคุ้มกันได้แค่ไหน ที่บอกว่าป้องกันได้ 85 % นั้น เป็นจริงหรือไม่ กำลังเปิดรับอาสาสมัคร 3 กลุ่ม คือ อายุ 40 ปี 50 ปี และ 60 ปี ขึ้นไป จำนวนกลุ่มละ 10 คน รวมทั้งหมดประมาณ 30-40 คน คาดว่าจะใช้เวลา 1 สัปดาห์จะทราบผล
ส่วนเรื่องการตรวจหาเชื้อปัจจุบัน ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่งตรวจได้แล้ว และแล็บหลายแห่งในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ สามารถยื่นข้อมูลให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตววจสอบมาตรฐานห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 2+ อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าหากไม่ไม่พฤติกรรมเสี่ยง หรือมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดคนติดเชื้อก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจ เพราะไม่มีความจำเป็น และการตรวจยังคงมีราคาแพง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกันเพื่อหาต้นทุนที่แท้จริง เพื่อจะได้ปรับลดค่าตรวจให้ถูกลง
"กรณีมีชาวชาวฝรั่งเศส 1 ราย ที่จ.ตราด มีข้อสงสัยเพราะเคยมีไข้ เมื่อประมาณ 1 เดือน มีแผล และส่งตัวอย่างมาตรวจเบื้องต้นสิ่งส่งตรวจจากคอ จากเลือด ผลเป็นลบทั้งหมด ส่วนสิ่งส่งตรวจจากแผล ตัวอย่างที่ส่งมาไม่สมบูรณ์จึงบอกไมได้ อยู่ระหว่างเก็บตัวอย่างตรวจเพิ่มเติม ซึ่งรายนี้จะเป็นหรือไม่ ยังไม่ทราบ เพราะตัวอย่างส่งให้กรมวิทย์ค่อนข้างช้า แต่พื้นที่ได้ไปสอบสวนโรคเพิ่มเติม" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวย้ำว่า ทั้ง 4 รายที่ป่วย มีวิธีการติดเชื้อชัดเจน คือ นัวเนีย ใกล้ชิดมาก ไม่ใช่กินข้าวแล้วติด ดังนั้น หากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็อย่าวิตกกังวลมากนัก
ทางด้าน นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับประชาชนวิตกกังวลมาก อย่างมีผื่นขึ้นมาก็มาขอตรวจ จริงๆ ต้องไปพบแพทย์เพื่อประเมินลักษณะผื่นที่เกิดขึ้น และดูประวัติเสี่ยงด้วยว่า สมควรตรวจหรือไม่ ทั้งนี้ หากเป็นขึ้นมาก็จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรคด้วย
ขณะเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีนักท่องเที่ยวชายสัญชาติฝรั่งเศส อายุ 32 ปี เดินทางมาเที่ยวจังหวัดตราดเมื่อเดือนที่ผ่านมา และมีอาการผิดปกติระบบทางเดินปัสสาวะ มีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศ จึงไปพบแพทย์จนอาการดังกล่าวหาย ต่อมาพบตุ่มขึ้น ที่มือ จึงเดินทางเข้ารับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลตราด จากนั้นโรงพยาบาลตราดได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และห้องปฏิบัติการที่ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก TRC-EIDCC โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยืนยันไม่พบเชื้อฝีดาษวานร
สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นในแถบทวีปยุโรปและอเมริกา ในทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ส.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยันทั่วโลก จำนวน 28,792 ราย เสียชีวิต 6 ราย (สเปน 2 ราย บราซิล เปรู กานา อินเดีย ประเทศละ 1 ราย) ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นร่วม ประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับ แรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 7,510 ราย สเปน 5,208 ราย เยอรมัน 2,887 ราย อังกฤษ 2,768 ราย และฝรั่งเศส 2,423 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยยังพบผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย มีรายงานผู้เข้าเกณฑ์ป่วยเป็นผู้ป่วยสงสัย 36 ราย ผู้สัมผัส 44 ราย ครบการกักตัวแล้วทั้งหมด 7 ราย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการผู้ป่วยสงสัยทั้ง 35 ราย ไม่พบเชื้อฝีดาษวานร รอผล 1 ราย
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค ได้กำชับไปยังกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค และด่านควบคุมโรคติดต่อท่าอากาศยานนานาชาติ ให้ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเฝ้าระวังในสถานพยาบาล หากพบผู้ที่มีอาการตุ่มฝีตุ่มหนองขึ้นตามอวัยวะต่างของร่างกาย ให้รีบส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และหากผลเป็นบวก ติดเชื้อ จะรีบเข้าไปควบคุมกลุ่มเสี่ยงไม่ให้แพร่กระจายเชื้อต่อทันที
“ขอเน้นย้ำว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อง่ายหรือมีความรุนแรง ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มหนองบริเวณผิวหนังของผู้ป่วย ซึ่งแนวทางวิธีการป้องกันตัวจากโรคฝีดาษวานร ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดโอกาสการสัมผัสละอองน้ำลาย น้ำมูกของผู้ป่วย หรือสัตว์ติดเชื้อ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของร่างกาย เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่ไม่รู้จัก ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก และรับประทานอาหารปรุงสุกสะอาด หากประชาชนมีความเสี่ยง มีการสัมผัสกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว เป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด มีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านท่านได้ทันที” นพ.โอภาส กล่าว