ศบค.เปิดตัวเลข ATK เป็นบวกในรอบสัปดาห์ทะลุ 2 แสนราย เฉลี่ยวัน 2.8 หมื่นราย ด้าน สธ.ยันมีเตียง-ยาเพียงพอ พร้อมเผยผลสำรวจพบโรงเรียนไม่ได้เป็นแหล่งแพร่โควิด จับตาประชุมชุดใหญ่ 19 ส.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียน OPSI เจอ แจก จบ ซึ่งตรวจแบบ ATK ในสัปดาห์ที่ 30 ระหว่างวันที่ 24-30 ก.ค. มีตัวเลขอยู่ที่ 201,554 ราย เฉลี่ยวันละ 28,793 ราย
ส่วนสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยใส่ท่อหายใจถือว่าน่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น และมีโรคประจำตัว แต่โดยรวมอัตราการครองเตียงเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 17.1% ทางกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่ายังมีศักยภาพในการรักษาและยังสามารถขยายเตียงได้ รวมถึงเรื่องยาโมลนูพิราเวียร์ ยืนยันว่ามีคุณภาพเพียงพอในการรักษาประชาชน และเน้นย้ำให้ภาครัฐดูแลการให้ยาผ่านการสั่งยาของแพทย์ โดยทางรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ไม่ควรซื้อยานอกจากที่ภาครัฐกำหนดไว้ให้ เพราะไม่แน่ใจเรื่องคุณภาพของยา และยาไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือที่เรียกว่ายาเถื่อน อาจจะมีอันตรายต่อตนเองได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวในเดือน ก.ค. ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการไทยแลนด์พาส มีตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 1.07 ล้านกว่าคน เพิ่มจากเดือน มิ.ย.ที่มีเพียง 7.6 แสนคน
ขณะเดียวกัน จากการสุ่มตรวจผู้เดินทางเข้าประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเดือน ก.ค. ที่มี 770,614 คน จำนวน 15% คือ 117,567 คน พบว่าส่วนใหญ่มีใบวัคซีนตามเกณฑ์และมีใบรับรองการตรวจหาเชื้อ มีเพียง 13 คนเท่านั้นที่ไม่มีใบวัคซีนและใบรับรองผลตรวจ ถือว่าน้อยมาก จึงขอให้มั่นใจในมาตรการคัดกรองคนเข้าประเทศ
นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยว่า ในที่ประชุม กรมอนามัย ได้เสนอชุดข้อมูล และผลสำรวจเพื่อตรวจสอบการติดเชื้อในสถานศึกษา พบว่า จากการสำรวจเด็ก 49,242 คน พบติดเชื้อ 30.56% ยังคงปฎิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting ทั้งการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ วัดไข้ ลดไปในพื้นที่แออัด กักตัวเองหากมีความเสี่ยง รวมทั้งสถานศึกษาใช้ 7มาตรการเข้ม
เมื่อเปิดเรียนแล้ว จากการสำรวจเด็ก 10,116 คน พบว่า ส่วนมากติดเชื้อมาจากบุคคลในบ้าน รองลงมาไม่ทราบสาเหตุ ส่วนการติดเชื้อในโรงเรียน พบเพียง 5.66% เท่านั้น อาการที่พบมาก คือ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ปวดตามกล้ามเนื้อ เป็นอาการที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการของลูกหลานได้ ส่วนเด็กนักเรียน เป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อด้วยหรือไม่ ผลสำรวจ พบว่า มีครอบครัวแค่ 0.36% ที่ติดเชื้อจากนักเรียนที่ไปโรงเรียน
"จากการประเมินประวัติติดเชื้อใน 1 เดือนที่ผ่านมา จากแบบประเมินพฤติกรรมสุขภาพนักเรียนในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในสถานศึกษา พบว่าเป็นการติดเชื้อในโรงเรียนเพียง 5.66% ไม่ทราบสาเหตุ 8.96% เป็นการติดเชื้อจากบุคคลในบ้าน 14.93% และอื่นๆ มากที่สุด 70.45% ทั้งนี้ ในวันที่ 19 ส.ค. จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อประเมินสถานการณ์และพิจารณามาตรการต่างๆ นำไปสู่การปฏิบัติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ฝากขอบคุณประชาชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือในการป้องกันโควิด-19 เป็นอย่างดี" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว