'ก้าวไกล' ขยายผลปมความเห็นอัยการคดีจีที 200 ชี้ ป.ป.ช.ไม่แจ้งข้อหา รมว.กห.-ผบ.ทบ เป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกม. เตรียมชง 'เสรีพิศุทธิ์' เชิญคกก.ชุดใหญ่ 8 คน แจงก่อน -ยังไม่ล่า 2 หมื่นชื่อถอดถอน รับต้องเซฟตัวเองหวั่นถูกฟ้องกลับ
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามขยายผลตรวจสอบข้อมูลอภิปรายไม่ไว้ใจวาง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT-200 ของ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา
ในประเด็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มติชี้มูลความผิดทหารทั้ง 22 นาย ซึ่งทั้งหมดนั้นพบว่าเป็นทหารที่มียศน้อย แต่กลับชี้ความผิดไปไม่ถึงผู้มีส่วนสำคัญในการอนุมัติ ทั้งที่ GT-200 เกือบทั้งหมด ถูกอนุมัติสั่งซื้อโดย พล.อ.อนุพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น ร่วมกับ พล.อ.ประวิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
โดยจากการตรวจสอบเอกสารข้อมูลประกอบการฟ้องร้องในคดีนี้ พบว่า อัยการสำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีความเห็นแย้งผลการชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีการไม่แจ้งข้อกล่าวหา กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ชี้มูลความผิดทางอาญา "พลโท" จำนวน 2 ราย อัยการสูงสุดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว เอาไว้ในในสำนวนความเห็นและคำสั่งของอัยการไว้ด้วย
- เปิดคำฟ้องคดีจีทีฯ ไม่ถึง 3 ป.-ยื่นศาลทหารเอาผิด 'พ.อ.-พ.ท-พ.ต.-ร.อ.' 22 คน-ไร้ พลโท? (1)
เปิดความเห็นอัยการคดีจีทีฯ ป.ป.ช.ไม่แจ้งข้อหา รมว.กห.-ผบ.ทบ เป็นการกระทำไม่ชอบด้วย กม. (2)
ล่าสุด นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า กรณีการดำเนินการตรวจสอบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวกับการกระทำข้างต้นตามความเห็นอัยการ ในส่วนของพรรคก้าวไกลต้องมีการหารือภายในกันก่อนว่าจากการอภิปรายของนายจิรัฎฐ์ สามารถขยายผลไปสู่การดำเนินการใดได้บ้าง หลังจากนั้น เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะกำหนดท่าทีที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
"ส่วนบทบาทในฐานะกรรมาธิการฯ ตามระเบียบเรื่องนี้คงต้องรอให้มีคนมายื่นก่อน หรือไม่ก็ต้องให้พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ พิจารณาตั้งเรื่องขึ้นมาตรวจสอบเอง ซึ่งขณะนี้ทางกรรมาธิการยังไม่ได้กำหนดบทบาทอะไรในการดำเนินการเกี่ยวกับกรณีนี้" นายธีรัจชัย ระบุ
จิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล
ชงยื่น 'เสรีพิศุทธิ์' สัปดาห์หน้า
ส่วน นายจิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ภายในสัปดาห์หน้า จะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เป็นประธาน ซึ่งส่วนตัวได้หารือกับนายธีรัจชัยในประเด็นนี้ไปบ้างแล้ว
"ประเด็นที่จะไปยื่นคือ การขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 8 รายมาชี้แจงเกี่ยวกับกรณีนี้ เพราะที่ผ่านมา กรรมการ ป.ป.ช. ไม่เคยมาชี้แจงประเด็นต่างๆที่รัฐสภาเลย ส่วนใหญ่จะมอบหมายให้เลขาธิการฯ มาชี้แจงแทนเป็นหลัก แต่ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรรมการทั้ง 8 รายโดยตรง จึงเห็นว่า ทางกรรมการ ป.ป.ช. ควรมาชี้แจงด้วยตนเอง" นายจิรัฎฐ์ กล่าว
นายจิรัฎฐ์ กล่าวอีกว่า "ส่วนการยื่นขอถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำลังปรึกษากับฝ่ายกฎหมายภายในพรรค ซึ่งก็เริ่มศึกษากระบวนการทางกฎหมายกันอยู่ เพราะก็ต้องยอมรับว่า การดำเนินการนี้จะต้องเซฟทั้งตัวเองและพรรคไม่ให้ถูกฟ้องกลับเหมือนหลายๆกรณีที่เข้าไปตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ แล้วถูกฟ้องกลับ โดยถูกฟ้องกลับแล้ว 2-3 ประเด็น ดังนั้น ในช่วงนี้ต้องขอเวลาหารือ ศึกษาภายในพรรคก่อน และในกรณีนี้อาจจะต้องขอความช่วยเหลือนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อความรอบคอบทางกฎหมายด้วย แต่ภายในปีนี้น่าจะเริ่มกระบวนการได้"
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทย และพล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อสอบถามความเห็นการดำเนินการตรวจสอบคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่นกัน แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้
รธน.60 ระบุต้องรวมชื่อ จึงยื่นถอน ป.ป.ช.ได้
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับการยื่นถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 236 ระบุว่า ทำได้ 2 วิธีคือ
1.ส.ส. และส.ว. หรือทั้ง 2 สภา จำนวนอย่างน้อย 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา เข้าชื่อยื่นถอดถอนต่อประธานรัฐสภาได้ กรณีเห็นว่า กรรมการป.ป.ช. กระทำการตามมาตรา 234 (1)
2. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 20,000 คน รวมชื่อยื่นต่อประธานรัฐสภากรณีเห็นว่า กรรมการป.ป.ช. กระทำการตามมาตรา 234 (1)
หากประธานรัฐสภาเห็นว่า มีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ใหประธานรัฐสภา เสนอเรื่องไปยงประธานศาลฎีกา เพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง
คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หน้าที่และอำนาจ วิธีการไต่สวน ระยะเวลาการไต่สวน และการดำเนินการอันที่จำเป็นของคณะผู้ไต่สวนอิสระ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 237 เมื่อดำเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ ใหคณะผู้ไต่สวนอิสระดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ถ้าเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้สั่งยุติเรื่อง และใหคำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด
2. ถ้าเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย โดยให้นำความในมาตรา 235 วรรค 3 วรรค 4 และวรรค 6 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
3. ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหา มีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา และมิใช่กรณีตามข้อ 2 ให้ส่งสำนวน การไต่สวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และให้นำความในมาตรา 235 วรรค 2 วรรค 4 และวรรค 5 ใช้บังคับโดยอนุโลม